ความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้นำหลายประเทศกลุ้มใจ ล่าสุดเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ลาว บุนยัง วอละจิด กล่าวย้ำว่าจะพยายามให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุดต่อประเทศที่อยู่ด้านล่างแม่น้ำโขงจากโครงการเขื่อนของลาว ที่จะมีการสร้างเขื่อนทั้งหมด 11 แห่งตามแนวแม่น้ำโขง
เขาแสดงท่าทีดังกล่าวในการสัมภาษณ์กับสื่อ Phnom Penh Post ของกัมพูชา
นายบุนยังกล่าวว่าสำหรับเขื่อน ดอนสะโฮง ของลาว ที่อยู่ใกล้ตอนเหนือกัมพูชา ทางรัฐบาลเวียงจันทน์ให้สัญญาว่าจะให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อเขมร และเสริมว่าลาวได้ศึกษาโครงการนี้อย่างรอบคอบแล้ว
ประชากร 70 ล้านคนอาศัยเขตลุ่มแม่น้ำโขงเป็นแหล่งอาหารโดยตรง ซึ่งจำนวนมากเป็นชนเผ่าต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์
Samin Ngach โฆษกของกลุ่มเยาวชนพื้นถิ่นของกัมพูชา หรือ Cambodia Indigenous Youth Association กล่าวว่าขณะนี้ปริมาณน้ำสะอาดมีอย่างจำกัด และอาหารหลักซึ่งก็คือข้าวก็เกิดปัญหาผลผลิตตกต่ำเพราะฝนตกลงมาน้อยในหน้าฝนปีที่แล้ว เขากล่าวว่าในชุมชนพื้นบ้าน ชาวบ้านไม่สามารถปลูกข้าวได้ และไม่มีอาหารรับประทาน
ประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงคือสาเหตุของภัยแล้งขณะนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการตัดไม้ทำลายป่า และการสร้างเขื่อนในบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำโขงในประเทศจีน รวมถึงการเปลี่ยนพื้นที่ป่ามาเป็นที่ดินอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกันน่าจะเป็นผลของภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติด้วย
Ou Virak จากหน่วยงานวิจัยด้านนโยบาย Future Forum กล่าวว่า เขื่อนในจีนน่าจะมีผลต่อปัญหาความแห้งแล้งปัจจุบันในเอเชียอาคเนย์ และปักกิ่งมีอิทธิพลต่อการควบคุมกระแสน้ำด้วยระบบชลประทานของจีน ที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่มาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว
และเมื่อผนวกอิทธิพลของจีนในการควบคุมน้ำ กับสถานการณ์ปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ รัฐบาลปักกิ่งมีอำนาจต่อรองสูงบนโต๊ะเจรจากับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนามและไทย
กลไกการประสานงานแก้ไขปัญหาภัยแล้งหนึ่งคือคณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือ Mekong River Commission (MRC)
เวียดนามได้กดดันไทยให้ใช้ MRC ช่วยวางแผนการผันน้ำไปที่บริเวณที่มีปัญหาหนักก่อน แต่เท่าที่ผ่านมา MRC ขาดเงินสนับสนุนจากหน่วยงานนานาชาติและยังถูกกล่าวหาว่าบริหารงานไม่ดีและประสบปัญหาคอรัปชั่น
(รายงานโดย Luke Hunt / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)