ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไทยติดกลุ่มประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดในเอเชีย


FILE - The positions of colliding vehicles are marked at the site of a road accident during the Songkran festival in Bangkok, Thailand.
FILE - The positions of colliding vehicles are marked at the site of a road accident during the Songkran festival in Bangkok, Thailand.

องค์การอนามัยโลกกำลังกดดันให้ประเทศในเอเชียลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลงครึ่งหนึ่ง

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:02 0:00
Direct link

รายงานของ Chalmers Technical University ในเมืองโกเทเบิร์ก สวีเดน ที่จัดทำขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ได้สำรวจจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศแถบเอเชีย 24 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมประชากรโลกราว 56%

และพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ราว 750,000 คนในแต่ละปี โดยอุบัติเหตุบนท้องถนนถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรอายุต่ำกว่า 30 ปีในประเทศเหล่านั้น

รายงานระบุด้วยว่า ตัวเลขผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนถนนนั้นสูงกว่า 50 ล้านคน ในจำนวนนี้ 12% ต้องนำส่งโรงพยาบาล นำไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 8 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนราว 3.6% ของมูลค่าจีดีพีของ 24 ประเทศนั้น

รายงานจากสวีเดนชิ้นนี้ระบุถึงประเทศไทย ที่เพิ่งผ่านช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดเป็นสถิติใหม่ คือกว่า 400 ราย เพิ่มจากระดับปกติราว 30%

เจ้าหน้าที่ทางการไทยชี้ว่า การขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วเกินระดับที่กำหนด คือสาเหตุหลักของอุบัติเหตุ รองลงมาคือการขับขี่ขณะมึนเมา โดย 80% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลวันปีใหม่ไทย เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์

สำหรับตัวเลขผู้บาดเจ็บนั้น กระทรวงสาธารณสุขไทยระบุว่ามีจำนวนมากกว่า 25,000 ราย ในจำนวนนี้ 3,200 รายบาดเจ็บสาหัสและต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล รายงานยังบอกด้วยว่า ตำรวจไทยสามารถจับกุมนักขับขี่ที่ทำผิดกฎหมายตามด่านตรวจต่างๆ ได้กว่า 110,000 คนทั่วประเทศ และยึดยานพาหนะไว้ราว 5,700 คัน

คุณ Nana Soetantri ผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคม ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ระบุว่า อัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ คืออยู่ที่ระดับ 36.2 รายต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งสูงกว่าเวียดนามและจีน

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 เป็นต้นมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในจีนลดลงมาก เนื่องมาจากการใช้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น การเพิ่มบทลงโทษต่อผู้ขับรถขณะมึนเมา และการบังคับใช้กฎหมายคาดเข็มขัดนิรภัย

ส่วนในเวียดนามซึ่งประชากรส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์ การนำกฎหมายสวมหมวกกันน็อคมาบังคับใช้ ก็ช่วยลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้หลายพันคน

องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลกลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี ค.ศ. 2020 ตามแผนที่เรียกว่า “Decade of Action for Road Safety 2011 – 2020 ”

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกประเมินว่า หากไม่มีนโยบายที่เข้มงวดมาใช้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 1 ล้าน 9 แสนคนต่อปี ภายในช่วง 4 ปีข้างหน้า

(ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG