Your browser doesn’t support HTML5
ประเทศในเอเชียกำลังเผชิญกับแนวโน้มของโรคอันตรายที่กำลังเพิ่มขึ้น เช่นโรคมะเร็ง โดยเฉพาะในอินเดียที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอาจมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 5 เท่าไม่นานจากนี้
ความเจ็บป่วยบางประเภทเช่น stroke หรือเส้นเลือดในสมองแตกและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ได้รับการอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญว่าเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศตามเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงปักกิ่ง
นอกจากนั้น คนในวงการสาธารณสุขกังวลถึงภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคร้ายเหล่านี้ในกลุ่มชนชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อยในเอเชียด้วย
สำหรับโรคมะเร็ง องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ระบุว่าในเอเชียมีผู้ป่วยมะเร็งระยะปลายเสียชีวิตราว 1 ล้าน 3 แสนคนต่อปี
และในประเทศจีน มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ 4 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษา Boston Consulting Group
ส่วนที่อินเดีย Boston Consulting Group กล่าวว่าจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มเป็น 2 ล้าน 5 แสนคน และอาจเพิ่มขึ้นห้าเท่าภายใน 8 ปีจากนี้
ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการรักษาก็เพิ่มขึ้นด้วย
WHO กล่าวว่าค่าใช้จ่ายสำหรับยาโรคมะเร็งของผู้ป่วยทั่วโลกเพิ่มขึ้น 11.5% มาอยู่ที่ 107,000 ล้านดอลลาร์เมื่อสองปีก่อน และคาดว่าจะพุ่งสู่ 150,000 ล้านดอลลาร์ในอีกสามปีจากนี้
ด้านอาจารย์ Gregory Winter จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ อังกฤษ กล่าวว่าการใช้ยาปฏิชีวนะและเทคนิคใหม่รักษาโรคร้ายต่างๆ เช่น มะเร็ง ยังคงมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าประชากรโลกส่วนใหญ่จะสามารถรับภาระได้
เขากล่าวว่าค่าใช้จ่ายสำหรับยาและการรักษาเพื่อต่อสู้กับแบคทีเรียของผู้ป่วยรายบุคคลที่เป็นโรคอันตราย อาจอยู่ในระดับสูงระหว่าง 15,000 และ 75,000 ดอลลาร์ต่อปี คิดเป็นเงินไทย 525,000 บาทถึงกว่า 2 ล้าน 6 แสนบาท
สำหรับผู้ป่วย stroke ที่เป็นไปได้จากการที่เส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าประชากรในเอเชียอยู่ในกลุ่มมีความเสี่ยงสูง
อาจารย์ Vladimir Hachinski ชาวแคนาดาแห่งมหาวิทยาลัย Western Ontario เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ โดยที่เขาได้รับรางวัลเหรียญเจ้าฟ้ามหิดลฯ ในฐานะผู้ที่สร้างความก้าวหน้าให้กับวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ของโลก
เขากล่าวว่า พบหลักฐานที่ชัดเจนมากขึ้นว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศในเอเชียกับอาการ stroke และความจำเสื่อม
อาจารย์ Hachinski กล่าวว่ามลพิษในอากาศไม่มีพรมแดน กล่าวคืออากาศในกรุงปักกิ่งกับที่กรุงเทพฯ ก็อยู่ภายใต้ระบบบรรยากาศเดียวกัน
ปัจจุบันประชาชนในเมืองใหญ่ของประเทศจีน เช่น กรุงปักกิ่ง เผชิญกับปัญหาหมอกควันพิษ หรือ smog ซึ่งการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า มลพิษทางอากาศลักษณะนี้ในจีนทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่าหนึ่งล้านคน โดยทำให้คนอายุสั้นลง 2 ถึง 5 ปี
อาจารย์ Hachinski บอกว่า ประเทศในเอเชียต้องจัดการกับปัญหามลพิษในอากาศที่มีความเกี่ยวเนื่องกับโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆ กัน
(รายงานโดย Ron Corben / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)