มาตรการฉุกเฉินนี้มีขึ้นท่ามกลางเสียงเรียกร้องหนาหูให้ทางการรับมืออย่างเร่งด่วน กับระดับมลพิษทางอากาศในกรุงนิวเดลีที่เลวร้ายลงเกินระดับปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเอาไว้ถึงกว่า 30 เท่าตัว
เเม้ว่าเมืองหลวงของอินเดียจะถือว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีระดับมลพิษทางอากาศที่ย่ำเเย่ที่สุดในโลก คุณภาพอากาศของกรุงนิวเดลีได้เลวร้ายลงไปกว่าเดิมเป็นอย่างมากในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมีหมอกสีเทาปกคลุมตัวอาคารต่างๆ ในเมืองและระดับการมองเห็นบนท้องถนนต่ำ
หลายคนสงสัยว่ามาตรการต่างๆ ของทางการในการควบคุมมลพิษทางอากาศครั้งนี้น่าจะสายเกินไป
ระดับมลพิษทางอากาศในกรุงนิวเดลีที่สูงมากนี้ มีต้นเหตุจากปัจจัยหลายรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควันเสียจากยวดยานที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล และการเผาขยะ ในช่วงนี้ของปีชาวนาในรัฐต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับเมืองหลวงกำลังจุดไฟเผาขยะจากพืชผลทางการเกษตรปริมาณหลายล้านตัน และกลุ่มควันสีดำจากการเผาเรือกสวนไร่นานี้ได้ลอยมายังกรุงนิวเดลี
ปัญหามลพิษนี้ยิ่งแย่ลงในช่วงฤดูหนาวที่ไม่มีลมช่วยพัดพาให้หมอกควันพิษจางลงไป
ด้านศูนย์วิทยาศาสตร์และสิ่งเเวดล้อมหรือ CSE ในกรุงนิวเดลี ได้เรียกร้องมานานเเล้วให้ทางการกรุงนิวเดลีปฏิบัติการแบบฉุกเฉินเพื่อลดระดับมลพิษทางอากาศลง ทุกครั้งที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นไปอยู่ในระดับอันตราย
Anumita Roychowdhury ผู้อำนวยการบริหารด้านการวิจัยและรณรงค์ของ CSE กล่าวว่า เมืองหลายเมืองทั่วโลกมีแผนรับมือหากประสบกับหมอกควันพิษติดต่อกัน ยกตัวอย่างกรุงปักกิ่งที่หากระดับมลพิษทางอากาศขึ้นไปแตะระดับอันตรายตลอด 3 วันติดต่อกัน ทางการจะสั่งปิดโรงงานไฟฟ้าในส่วนของฝ่ายผลิตลงทันที
แต่ทางการกรุงนิวเดลีได้มีมาตรการฉุกเฉินออกมา หลังจากประสบกับปัญหาระดับมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายนี้นานติดต่อกันถึงหกวัน
Arvind Kejriwal มุขมนตรีของรัฐเดลี ได้เรียกร้องให้รัฐต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงบังคับใช้กฏหมายห้ามการเผาขยะจากภาคเกษตรกรรม เพราะเขม่าจากควันไฟนี้ส่งผลให้ปัญหามลพิษทางอากาศเลวร้ายลงอย่างมาก
Richard Green ผู้สื่อข่าววีโอเอ รายงานว่าการจุดประทัดและดอกไม้ไฟเพื่อฉลองงานเทศกาลประจำปี Festival of Lights เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นในอินเดีย ก็ยิ่งทำให้คุณภาพอากาศย่ำแย่ลงไปอีก
องค์การอนามัยโลกชี้ว่า อินเดียมีเมือง 4 เมืองที่จัดอยู่ในบรรดา 10 เมืองทั่วโลกที่มีคุณภาพอากาศย่ำเเย่ที่สุดในโลก และกรุงนิวเดลีติดอันดับ11 ของโลกในเรื่องนี้
โทรทัศน์หลายช่องกำลังออกอากาศการรณรงค์ต่อต้านมลพิษทางอากาศ ในขณะที่ผู้คนโพสต์ข้อความมากมายทางสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับวิธีจัดการกับระดับมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายในเมืองหลวงของอินเดีย ที่ซึ่งหลายๆ คนเรียกว่า "ห้องรมแก๊ส"
(รายงานโดย Anjana Pasricha and Richard Green / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว )