Your browser doesn’t support HTML5
นักวิเคราะห์เศรษฐกิจของหน่วยงานในสังกัดของสหประชาชาติ UNESCAP เรียกร้องให้ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนในภูมิภาค
ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้กล่าวว่า ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ช่องว่างด้านรายได้กว้างขึ้นร้อยละ 30 ซึ่ง Hamza Ali Malik นักวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่าเป็นการเพิ่มขึ้นที่มีนัยสำคัญ
เขากล่าวว่าคนร่ำรวยอันดับ 1% แรก มีส่วนแบ่งในความมั่งคั่งภาคครัวเรือนกว่าครึ่งหนึ่งสำหรับประชากรในประเทศไทย อินโดนีเซีย อินเดียและรัสเซีย โดยผู้วางนโยบายอาจใช้เครื่องมือด้านภาษีบรรเทาความแตกต่างทางเศรษฐกิจนี้ได้
ทั้งนี้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนนี้ เกิดขึ้นขณะที่เศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกเติบโตในอัตราที่มั่นคง
Shamshad Akhtar เลขาธิการบริหารของ UNESCAP กล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค น่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 4.9% ในปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่ต่อเนื่อง ขณะที่ส่วนอื่นๆ ของโลกหลายแห่งขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่า
เธอบอกว่า ภาพรวมของการเติบโตในปีหน้าของเอเชียแปซิฟิกยังดูดี แม้ว่าจีนอาจมีการชะลอลงบ้างเพราะจีนกำลังปรับสมดุลเศรษฐกิจภายในประเทศ
ประเทศที่ UNESCAP กล่าวว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ต่ำลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาเชื่อมโยงกับน้ำมันดิบ เช่นประเทศมองโกเลีย คาซัคสถาน และรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่ารัสเซียอาจได้รับข่าวดีว่าเศรษฐกิจอาจไม่ติดลบ คือเติบโต 1% ในปีหน้า หลังจากที่ขนาดเศรษฐกิจหดตัวช่วงสองปีที่ผ่านมา
นอกจาก UNESCAP แล้ว ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียหรือ ADB กล่าวว่าการปรับโครงสร้างผ่านการปฏิรูปเศรษฐกิจในเอเชีย จะสามารถช่วยเพิ่มพลวัติของการเติบโตอนาคต
มาตรการอื่นๆ ที่สามารถใช้ร่วมกัน คือการปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนให้ดีขึ้น และการส่งเสริมความต้องการภาคครัวเรือนตามรายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย
(รายงานโดย Ron Corben / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)