การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจะลดลงปีละ 2.1 ล้านคนถ้าลดมลภาวะทางอากาศโดยเฉพาะในเอเชีย

Smoke rises from chimneys of brick kilns on the outskirts of New Delhi, India, June 16, 2015.

รายงานการศึกษาระบุว่ามลภาวะทางอากาศเป็นภัยจากสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของคนเรา

Your browser doesn’t support HTML5

รายงานการศึกษามลภาวะในอากาศ

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า การสูดหายใจละอองธุลีที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ และเข้าไปถึงปอดนั้น เกี่ยวโยงกับการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ เส้นโลหิตอุดตัน มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจและอาจเป็นมะเร็งในปอดได้

ทีมนักวิจัยซึ่งประกอบไปด้วยวิศวกรสิ่งแวดล้อมและนักสาธารณสุขในสหรัฐฯ ได้พัฒนาโมเดลขึ้นมาใหม่ เพื่อวิเคราะห์ดูว่าถ้าสามารถลดละอองธุลี หรือ particulate matter ซึ่งเรียกย่อๆ ว่า PM ให้ลงไปอยู่ในระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ได้ ประชาชนทั่วไปจะได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Joshua Apte วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัย Texas วิทยาเขต Austin หัวหน้าทีมวิจัยชุดนี้เชื่อว่า จะช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้มากถึง 75%

นักวิจัยผู้นี้เน้นว่า โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดียเพียงสองประเทศ ก็อาจป้องกันการเสียชีวิตในลักษณะนี้ได้มากถึง 1.4 ล้านคน แต่การบรรลุเป้าหมายนี้ทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะแม้จะตั้งเป้าลดการเสียชีวิตลงเพียงครึ่งหนึ่ง ก็มีข้อแม้ว่าทั้งสองประเทศนี้จะต้องลดมลภาวะในประเทศให้ได้เกือบ 70% จากระดับปี ค.ศ. 2010

ที่กรุงนิวเดลี นครหลวงของอินเดีย ในบางครั้งระดับ PM สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 10 เท่า ทั้งอินเดียและจีนมีหลายเมืองที่มีปัญหามลภาวะสูงที่สุดในโลก เฉพาะในอินเดีย มีเมืองที่ติดอยู่ใน 20 อันดับแรกของเมืองที่มีมลภาวะสูงสุดในโลกถึง 13 แห่ง

แต่ถ้าไม่เร่งรีบแก้ไข รายงานการวิจัยฉบับนี้เตือนว่า อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในจีนและอินเดียจะเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 20%

อาจารย์ Joshua Apte อธิบายว่า ที่จะเป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรเมื่อเวลาล่วงเลยไป วิศวกรสิ่งแวดล้อมผู้นี้บอกว่าเมื่อประชากรของประเทศมีอายุมากขึ้น ผลกระทบต่อหัวจากมลภาวะทางอากาศจะเพิ่มขึ้น เพราะมีจำนวนผู้คนที่มีอายุสูงพอที่จะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจและเส้นโลหิตอุดตันมากขึ้นด้วย

การทำให้อากาศสะอาดขึ้นเป็นปัญหาท้าทายสำคัญต่อทั้งจีนและอินเดีย เพราะทั้งสองประเทศยังต้องพึ่งพาอาศัยถ่านหินเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า ในขณะที่มีรถตามท้องถนนเพิ่มขึ้นเพราะชนชั้นกลางของทั้งสองประเทศกำลังขยายตัว

จีนกำลังพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่อินเดียกลับต้องการเพิ่มโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินเพื่อสนองความต้องการของเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต

ในอีกด้านหนึ่ง รายงานฉบับนี้กล่าวไว้ด้วยว่า แม้ภูมิภาคที่ถือว่ามีอากาศสะอาดกว่าอย่างอเมริกาเหนือและยุโรป การทำให้อากาศสะอาดได้ตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้มากถึงปีละห้าแสนคนด้วย

สรุปได้ว่ารายงานฉบับนี้ตอกย้ำคำประกาศขององค์การอนามัยโลกในเดือนที่แล้ว ที่ระบุว่า มลภาวะทางอากาศเป็นภัยจากสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของคนเรา