Your browser doesn’t support HTML5
ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกยังย่ำแย่เพราะการระบาดของโควิด-19 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงหวังพึ่งเม็ดเงินการลงทุนจากจีนภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีนอยู่ แต่นักวิเคราะห์หลายรายชี้ว่า รัฐบาลอาเซียนควรเริ่มหันไปมองหาโอกาสการลงทุนจากที่อื่นได้แล้ว
ภายใต้ข้อริเริ่ม BRI ของรัฐบาลจีนนั้น หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างคาดหวังที่จะมีได้ส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ของการลงทุนจากกรุงปักกิ่งอย่างเต็มที่ แต่นักวิเคราะห์มองว่า ในเวลานี้ จีนน่าจะมุ่งเน้นความสนใจไปยังการผลักดันเศรษฐกิจของตนมากกว่า และทำให้การหวังพึ่งโครงการนี้เพียงแหล่งเดียวอาจนำมาซึ่งความผิดหวังได้
คาโฮ ยู นักวิเคราะห์อาวุโสด้านการเมืองและประเด็นพลังงานของเอเชีย จาก Verisk Maplecroft ในสิงคโปร์ บอกกับ วีโอเอ ว่า ทุกฝ่ายควรตระหนักว่า อย่างไรเสีย ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแผนการลงทุนในต่างประเทศของจีนย่อมมีขีดจำกัด และรัฐบาลกรุงปักกิ่งเองก็มีความกังวลเกี่ยวกับการพยุงสภาพเศรษฐกิจของตน มากกว่าที่จะหันไปดำเนินแผนงานใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของประเทศอื่นๆ หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว
ยู กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเดินหน้าผลักดันโครงการต่างๆ ภายใต้ข้อริเริ่ม BRI ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้าหรือการลงทุนเริ่มชะลอตัวลง และไม่ดูคึกคัก เหมือนอย่างเช่น เมื่อราว 5 ปีก่อน ขณะที่ การดำเนินมาตรการล็อคดาวน์เพราะการระบาดของโคโรนาไวรัสยิ่งทำให้ปัญหาการล่าช้าในแผนงานก่อสร้างโครงการพื้นฐานต่างๆ ยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก และประเด็นความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์และกระแสต่อต้านจีนในหลายพื้นที่ก็มีผลกระทบต่อแผนการลงทุนทั้งหลายด้วย
ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง – Belt and Road Initiative (BRI)
รัฐบาลของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เปิดตัวข้อริเริ่ม BRI ในปี ค.ศ. 2013 ให้เป็นแผนงานหลักของนโยบายด้านการต่างประเทศ ที่ตั้งเป้าลงทุนใน 70 ประเทศ และร่วมมือด้านการลงทุนกับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ด้วย
SEE ALSO: วิเคราะห์: จีนหวัง “โชว์พลังการเมือง” ที่การประชุมโครงการ “หนึ่งถนนหนึ่งวงแหวน”
ข้อมูลจากสถาบัน American Enterprise Institute ระบุว่า มูลค่าสัญญาภายใต้ข้อริเริ่ม BRI ที่มีการลงนามไปแล้วนั้นอยู่ที่ 46,540 ล้านดอลลาร์ ณ ปลายปีที่แล้ว โดยประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นผู้ถือส่วนแบ่งก้อนใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วน 36 เปอร์เซ็นต์ ที่จะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลาย ตั้งแต่ ถนนทางหลวง ไปจนถึง ท่าเรือ การขนส่งระบบราง และเขื่อน
แต่ทิศทางการเจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ดำเนินติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายทศวรรษกลับต้องสะดุดลงเพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และทุกประเทศต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจหดตัวอย่างหนักในปีที่ผ่านมา ขณะที่ ความหวังของหลายฝ่ายที่จะเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ก็ต้องล้มครืน เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา
สัญญาณบวกที่พอจะเป็นความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นก็คือ การที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวังอี้ กลับมาออกเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ในแถบอินโดจีนอีกครั้งเมื่อเดือนที่แล้ว หลังรัฐมนตรีอาเซียนจัดการประชุม BRI แบบออนไลน์เพื่อหารือความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่จะมาช่วยผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19
คาโฮ ยู นักวิเคราะห์อาวุโส จาก Verisk Maplecroft กล่าวว่า ข้อริเริ่ม BRI นั้นยังจะคงเป็นหลักสำคัญของนโยบายต่างประเทศจีน อย่างน้อยในช่วงอนาคตอันใกล้นี้ และอาเซียน ซึ่งอยู่ใกล้กับจีนมาก น่าจะได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ในการดึงเม็ดเงินการลงทุนจากจีนได้มากกว่า
อย่างไรก็ดี ยู ชี้ว่า ในเวลานี้ ยังไม่น่าจะมีโครงการประเภท เมกะโปรเจกต์ เปิดตัวออกมาในเร็วๆ นี้อยู่ดี
ปัญหาภายใน
จีนเองมีปัญหาภายในประเทศที่ต้องเร่งจัดการอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น กรณีของบริษัท เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) ที่ประสบภาวะหนี้พุ่งถึง 305,000 ล้านดอลลาร์ และหน่วยงานกำกับดูแลกิจการออกมาเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากปัญหาของบริษัทสัญชาติจีนแห่งนี้ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ หากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของจีนไม่สามารถจัดการปัญหาภาระหนี้สินได้
SEE ALSO: ‘เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป’ ตกลงชำระหนี้ดอกเบี้ย-ช่วยผ่อนคลายความกังวลผลกระทบลูกโซ่ต่อธุรกิจอื่นของจีน
เดวิด ท็อตเทน ผู้บริหารจากบริษัท Emerging Markets Consulting กล่าวว่า ภาวะระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสทำให้บริษัทจีนหลายแห่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากปัญหาการล่าช้าในการดำเนินแผนงานธุรกิจของตน ซึ่งส่งผลไปยังฐานะการเงินของแต่ละแห่งด้วย
ท็อตเทน แนะว่า ช่วงนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทต่างๆ จะสะสางโครงการต่างๆ ในมือและดำเนินการส่วนที่ทำได้และทำให้สำเร็จ ขณะที่ ชะลอแผนการขยายธุรกิจไปอีกสักพักก่อน
และเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกรุงปักกิ่งเพิ่งประกาศว่าจะยกเลิกแผนลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหินในต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโรงงานถึง 44 แห่งที่รัฐบาลจีนวางแผนจะลงทุนเป็นมูลค่าราว 50,000 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานจากสำนักข่าว รอยเตอร์ ที่ได้ข้อมูลมาจากบริษัทวิจัย Global Energy Monitor ในสหรัฐฯ
เร่งกระจายความเสี่ยง
ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อาเซียนประกาศมอบสถานะ “หุ้นส่วนคู่เจรจา” ซึ่งหมายถึง สิทธิ์ในการเข้าร่วมประชุมกับทางกลุ่มที่สูงขึ้น ให้กับอังกฤษ ซึ่งกำลังปรับเปลี่ยนตัวเองหลังถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ เบร็กซิต (Brexit) และทำให้อังกฤษกลายมาเป็นประเทศแรกในรอบ 25 ปีที่ได้รับสถานะดังกล่าว และเข้าร่วมกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ์นี้ไปแล้ว อันได้แก่ ออสเตรเลีย จีน รัสเซีย อียู และสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็กำลังเร่งความพยายามสานความสัมพันธ์กับอาเซียน เพื่อต้านอิทธิพลจีน และน่าจะพยายามผลักดันข้อริเริ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียน หรือ US-ASEAN Expanded Economic Engagement Initiative เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้มีมากขึ้น
เดวิด ท็อตเทน ผู้บริหารจากบริษัท Emerging Markets Consulting แสดงความเห็นว่า สิ่งที่ดูสมเหตุสมผลสำหรับอาเซียนก็คือ การหันไปผูกมิตรกับประเทศอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว เปิดโอกาสให้ทางกลุ่มสามารถริเริ่มความเป็นหุ้นส่วนกับกรุงวอชิงตันได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาเซียนควรตระหนักถึงความท้าทายจากการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรใหม่ๆ ในภาวะที่สภาพภูมิรัฐศาสตร์โลกมีความตึงเครียดมากขึ้น อาทิ กลุ่มจตุภาคี หรือ Quad ที่ประกอบด้วย อินเดีย สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ภายใต้นโยบายอินโด-แปซิฟิก ที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นมาใหม่ เป็นต้น
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความไม่พอใจของจีนต่อการถือกำเนิดของกลุ่ม Quad ซึ่งตนหวังว่า กัมพูชา ที่เป็นพันธมิตรหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานหมุนเวียนกลุ่มอาเซียนในปีหน้า จะออกโรงต่อต้านแทนตนนั้น ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะต้องหาทางสร้างสมดุลด้านผลประโยชน์จากทั้งฝั่งจีนและฝั่งตะวันตกไว้ให้ได้