เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ เผย รัฐบาลไทยพร้อมที่จะทำงานใกล้ชิดร่วมกับสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน และเตรียมเชิญชวนสหรัฐฯ เข้าลงทุนในโครงการ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC หลังตัวแทนรัฐบาลกรุงวอชิงตันได้ติดต่อฝ่ายไทย
เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน มนัสวี ศรีโสดาพล กล่าวว่า หน้าที่หนึ่งที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องทำให้สำเร็จ หลังมารับหน้าที่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา คือการสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองพันธมิตร ที่มีหลากหลายมิติต่อไปให้ได้ โดยระบุว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างไทยสหรัฐฯ มีมาช้านาน 180 กว่าปี ... หลังจาก 180 กว่าปี มันมีพัฒนาการอะไรเยอะแยะไปหมด ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยรวมอยู่ในระดับที่ดี อาจจะเรียกดีมาก ความร่วมมือมีทั้งทางด้านการทหารความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า ความร่วมมือในเรื่องของการพัฒนาความร่วมมือในกรอบมิติต่างๆ ความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ลึกซึ้ง เราเรียกกันว่า Alliance เป็นพันธมิตรร่วมในทุกมิติ”
เมื่อเทียบกับในช่วงไม่กี่ปีก่อน การเปลี่ยนแปลงในทางบวกจากรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งมีความสนใจที่จะปฏิสัมพันธ์ และรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เป็นสิ่งที่ เอกอัครราชทูตไทย เชื่อว่า กำลังเกิดขึ้นแล้วจริง
“หลังที่รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ แอนโธนี บลิงเคน ท่านรับเข้ารับหน้าที่ ... ภาย 2 วัน ท่านโทรไปหาท่านรองนายกรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ของเรา แล้วก็หลังจากนั้นก็มีการโทรศัพท์พูดคุยกันระหว่างท่านที่ปรึกษาด้านความมั่นคง เจค ซัลลิแวน กับท่านเลขาธิการ สมช. ของเรา แล้วก็ล่าสุด ก็มีการโทรศัพท์คุยกันแนะนำตัวโดยรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน กับท่านนายกฯ ในฐานะที่ท่านเป็นรัฐมนตรีกลาโหมของไทย”
เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ เอกอัครราชทูตไทย อธิบายว่า แม้ตลาดโลกจะอยู่ในภาวะย่ำแย่ในปีที่แล้ว แต่ตัวเลขการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ กลับมีการขยายตัวอย่างน่าประหลาดใจ โดยระบุว่า “สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าลำดับต้นๆ ของประเทศไทย แล้วก็ปีที่แล้วเนี่ยแล้วเราจะเจอปัญหาเรื่องโควิด ซึ่งจะทำให้ตลาดโลกซบเซาและการค้า ระหว่างไทยกับ เพิ่มขึ้นมา ปีที่แล้วก็ประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งก็แสดงว่า ต่อให้เจอปัญหาโควิด ต่อให้เศรษฐกิจโลกซบเซา แต่การค้าระหว่างไทยกับ สหรัฐฯ ก็ยังเดินหน้าต่อไป มันก็ต้องรักษาไว้ เพราะสิ่งที่สำคัญคือ เราต้องพึ่งพาอาศัย การค้าการทุน เพื่อประคองเศรษฐกิจของเราในการฟื้นตัวจากโควิด”
เอกอัครราชทูตไทยเปิดเผยด้วยว่า ทางสหรัฐฯ มีความประสงค์ที่จะปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดขึ้นกับไทย และยังมีแผนที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ที่เชื่อมต่อกับทั่วโลกให้ฟื้นตัวจากวิกฤตสาธารณสุขครั้งนี้ให้เร็วขึ้น รวมทั้ง มีการพูดถึงแผนการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด ให้มีการกระจายไปให้ทั่วทั้งโลกโดยเร็ว ซึ่งทางไทยที่เป็นผู้ริเริ่มกองทุนอาเซียนด้านโควิด เริ่มมีการคุยกรอบการทำงานเพื่อช่วยกระจายวัคซีนไปยังประชาชนให้ทั่วถึง โดยมีการร่วมมือกับทางสหรัฐฯ ด้วย
นอกจากนั้น นายมนัสวี กล่าวว่า ความตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งผลกระทบจากวิกฤตโควิด ยังกลายมาเป็นโอกาสให้ประเทศไทยเสนอตัวขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนในการช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ ได้ด้วย
“ทางประธานาธิบดี ไบเดน ท่านก็อยากจะให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นสามารถผลิตสินค้าสำคัญทางยุทธศาสตร์ในสหรัฐฯ ให้มากที่สุด และก็ source จากแหล่งต่างๆ เราก็แนะนำเขาบอกว่า เราเองมีโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) เป็นเขตเศรษฐกิจที่ให้สิทธิพิเศษหลายๆ อย่าง แล้วก็มีความสะดวกในเรื่องของท่าเรือในเรื่องของสนามบิน ในเรื่องของการคมนาคม สามารถเป็นโลจิสติกส์ที่โยงกับภูมิภาคได้แล้วก็ กับสหรัฐฯ เองได้ ฉะนั้น หากเขาสนใจที่จะกระจายแหล่งผลิตของเขาบางอย่างชิ้นส่วนบางอย่างและก็สามารถที่จะมาลงทุนในไทยใน EEC”
ในส่วนของมิติความร่วมมืออื่นๆ โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคนั้น ไทยจะมีบทบาทสำคัญอีกครั้งในปีหน้า ในฐานะประธานการจัดการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค ที่สหรัฐฯ เป็นสมาชิกอยู่ด้วย โดยหลายฝ่ายคาดหวังว่า ปี พ.ศ. 2565 จะเป็นครั้งแรกที่ ผู้นำจากทุกประเทศสมาชิกจะมีโอกาสเดินทางมาร่วมประชุมด้วยตนเองเป็นครั้งแรก ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั่วโลกมีความมั่นใจที่จะกลับมาเริ่มเดินทางท่องเที่ยวกันอีกครั้ง
“ในระดับอนุและโครง และทางสหรัฐฯ เขาก็ให้ความสนใจที่จะมาช่วยในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของประเทศในลุ่มน้ำโขงเราเอง เราก็เห็นว่า ทางสหรัฐฯ เนี่ย เขามีประสบการณ์จากมิสซิสซิปปี ซึ่งมันคาบเกี่ยวกับหลายรัฐ … เราก็อยากเรียนรู้จากเขา แล้วก็ ในการที่สหรัฐฯ อาจจะแบ่งปันข้อมูล แบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาวิธีการบริหารจัดการข้อมูล มาช่วยพัฒนาบุคลากรในภูมิภาค ในอนุภูมิภาค ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลระดับน้ำในแม่โขงได้”
อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจที่จะสานต่อความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานนี้ อาจไม่ได้จะเกิดขึ้นโดยง่าย เนื่องจากภาวการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างจำกัด แต่นายมนัสวี เชื่อว่า โอกาสที่สถานการณ์จะเริ่มกลับมาเกือบเหมือนปกตินั้นใกล้เข้ามาแล้ว