Your browser doesn’t support HTML5
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน พร้อมด้วยตัวเเทนของสหรัฐฯและจีนจะประชุมกันในสัปดาห์นี้ผ่านระบบออนไลน์ ช่วงวันพุธถึงวันศุกร์ โดยมีหัวข้อที่จะพิจารณาหลายหัวข้อโดยเฉพาะกรณีพิพาททางดินเเดนในทะเลจีนใต้
ตัวเเทนประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึง รัฐมนตรีไมค์ พอมเพโอ แห่งกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ยังสนใจในประเด็นเศรษฐกิจ ท่ามกลางผลกระทบจากโคโรนาไวรัส
นักวิเคราะห์กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วประเทศสมาชิกอาเซียน น่าจะเห็นว่า หากอเมริกาให้การสนับสนุนทางการเมืองหรือการทหารต่อภูมิภาค จะเป็นการดี เพราะบางประเทศหวั่นถึงภัยคุกคามจากจีน
ผู้สันทัดกรณีมองด้วยว่า ในเวลาเดียวกันประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็หวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากจีนด้านเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19
เดริค กรอสแมน นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งบริษัทวิจัย Rand Corp ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ประเทศเอเชียตะออกเฉียงใต้ คงอยากรู้ว่าจะมั่นใจได้หรือไม่ต่อความเเน่วเเน่ของสหรัฐฯ ว่าจะให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้ และต้องการดูว่าจะหวังพึ่งอเมริกาได้เพียงใดในการถ่วงดุลจีน
นอกจากนี้ นักวิชาการกล่าวว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของสมชิกอาเซียนที่เข้าประชุมในสัปดาห์นี้ จะดูว่าสหรัฐฯสานต่องานอย่างมีนัยสำคัญอย่างไรบ้าง หลังจากที่ รัฐมนตรีพอมเพโอ แถลงเมื่อเดือนกรกฎาคม ว่าอเมริกาจะปกป้องประเทศที่ถูกกดดันทางทะเลโดยจีน
ทั้งนี้ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ไม่พอใจจีนที่ส่งเรือมาในบริเวณที่จีนอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกับตนในทะเลจีนใต้
เมื่อเดือนที่เเล้ว กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ออกมาตรการลงโทษบริษัทจีน 24 แห่ง ที่ช่วยทางการปักกิ่งถมพื้นที่ทางทะเลในน่านน้ำที่เกิดความขัดเเย้ง
และตามปกติ สหรัฐฯส่งเรือไปในน่านนำ้ดังกล่าวเพื่อสนับสนุนเสรีภาพในทางเดินเรือ และเป็นการขัดต่อท่าทีของจีนที่อ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด
ในวันพุธรัฐมนตรีพอมเพโอ มีกำหนดแถลงถึงความสำคัญที่สหรัฐฯ ให้กับภูมิภาคอินโด-เเปซิฟิก และให้รายละเอียดถึงความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนให้ภูมิภาคนี้ “เปิดกว้างและมีอิสระ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักการแห่งอธิปไตยและการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลาย” ตามข้อมมูลของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์ เกรกอรี โพลิง ผู้อำนวยการโครงการ Asia Maritime Transparency Initiative ของศูนย์ Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ระดับการยอมรับท่าทีที่เเข็งขันขึ้นของสหรัฐฯในภูมิภาคจะบอกถึงระดับการยอมรับการขยายบทบาทของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน
นักวิเคราะห์กล่าวว่จีน ถูกคาดหมายว่าจะเสนอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคนี้ และไม่น่ารื้อฟื้นให้เกิดการเจรจาใหม่ ต่อกรอบการปฏิบัติ หรือ code of conduct สำหรับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้
รองศาสตราจารย์ อลัน ชง แห่งสถาบัน S. Rajaratnam School of International Studies กล่าวว่าผู้นำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังสงสัยถึงการจัดการกับการระบาดของโคโรนาไวรัสระยะเเรกในจีนว่าเกิดความผิดพลาดหรือไม่ และมีความกังวลถึงปัญหาความไม่มีเสถียรภาพในฮ่องกงด้วย
ในเวลาเดียวกัน ประเทศเหล่านี้อยากฟังความคืบหน้า และข้อเสนอจากจีน ด้านการค้าและการเปิดทางให้มีการท่องเที่ยวอย่างเสรีระหว่างจีนและประเทศของตนในรูปแบบที่เรียกว่า “travel bubbles”
เมื่อเดือนพฤษภาคม เอกอัครราชทูตจีนประจำอาเซียน กล่าวว่า แผนให้เงินสนับสนุนมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโคโรนาไวรัส มีเงินส่วนที่จัดสรรไว้สำหรับอาเซียนด้วย
นักวิชาการกล่าวว่า ตามประวัติศาสตร์ ประเทศอาเซียนสร้างมิตรภาพกับทั้งจีนและอเมริกาอย่างรักษาสมดุล เพราะการเลือกให้ความสำคัญต่อประเทศมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวอย่างเปิดเผย ก็จะทำให้อีกมหาอำนาจหนึ่งไม่พอใจ
หากพิจารณาถึง ข้อเท็จจริงที่ว่า จีนและสหรัฐฯกำลังเผชิญหน้ากันเรื่องการค้า เทคโนโลยี และบทบาทผู้นำบนโลกอินเตอร์เน็ต ประเทศสมาชิกอาเซียนคงเลี่ยงที่จะเเสดงจุดยืนเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในประเด็นร้อนเหล่านั้น
ดังนั้น โคลลิน โกห์ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University ที่สิงคโปร์ กล่าวว่า ประเทศอาเซียนน่าจะพูดถึงความร่วมมือกับจีนและสหรัฐฯ และไม่พูดถึงเรื่องระหว่างสหรัฐฯ และจีน ให้มากที่สุดเท่าที่จะเลี่ยงได้