นักวิเคราะห์คาดว่า เวียดนามกำลังศึกษาหนทางยื่นเรื่องต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กรณีข้อพิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้ หากไม่สามารถใช้วิธีทางการทูตแก้ปัญหาได้
เป็นเวลากว่าหกปีที่จีนได้ติดตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลจีนใต้จนจุดชนวนให้เกิดเหตุประท้วงจลาจลต่อต้านจีนในเวียดนาม ในขณะที่เวียดนามก็เริ่มสำรวจแหล่งพลังงานใต้สมุทรในบริเวณที่จีนเห็นว่าอ่อนไหวเช่นกัน โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เรือสำรวจของจีนเพิ่งทำการจมเรือประมงของเวียดนาม
ทั้งนี้ ทางการเวียดนามได้อ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะพาราเซล แม้ว่าจีนจะควบคุมหมู่เกาะดังกล่าวมากว่า 50 ปีแล้วก็ตาม
เมื่อปี ค.ศ. 2016 ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศพิพากษาให้ฟิลิปปินส์ชนะจีนในกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยศาลเห็นว่า จีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายที่จะอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ทะเลราว 90 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลไม่ได้บังคับให้คู่พิพาทต้องดำเนินการตามคำตัดสิน โดยจีนเองไม่ยอมรับผลการตัดสินดังกล่าว แต่ตัดสินใจเริ่มเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีถัดมา
เลอ ฮอย ตรัง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม กล่าวในเวทีประชุมนานาชาติเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ว่า อนุญาโตตุลาการและการฟ้องร้องระหว่างประเทศ คือตัวเลือกที่เวียดนามพิจารณาใช้เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ขณะที่รายงานข่าวระบุว่า ในปีนี้ เวียดนามจ้างผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐบาลแล้ว
และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีนและเวียดนามพบปะหารือกัน ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของสนธิสัญญาพรมแดนทางบก โดยเหงียน ทานห์ ตรัง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ในนครโฮจิมินห์ ระบุว่า การพบกันของทั้งสองฝ่ายแสดงให้เห็นว่า ยังคงมีการใช้ช่องทางทางการทูตอยู่ และเขาเห็นว่าจีนและเวียดนามยังหวังว่าจะใช้กลไกทวิภาคีและพหุภาคีในการระงับข้อพิพาทได้ ขณะที่จีนอาจไม่พอใจมากหากเวียดนามยื่นเรื่องอนุญาโตตุลาการ
คาร์ล เทเยอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เห็นว่า เวียดนามควรใช้ช่องทางการทูตทุกช่องทางให้หมด ก่อนตัดสินใจยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการ ขณะที่ รัฐบาลเวียดนามยังควรหาจังหวะที่เหมาะสมในการยื่นเรื่องเมื่อข้อพิพาทถึงจุด “ตกผลึก” เช่น หากจีนประกาศเขตการทหารทางอากาศเหนือบริเวณทะเลจีนใต้
เทเยอร์ยังระบุด้วยว่า หากผลคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการเป็นผลในทางบวกแก่เวียดนาม อาเซียนอาจใช้คำตัดสินนี้กดดันทางจีนมากขึ้น นอกจากนี้ “มหาอำนาจทางทะเล” อย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นก็อาจอ้างคำตัดสินดังกล่าวเป็นพื้นฐานทางกฎหมายต่อทางจีนได้เช่นกัน
ขณะเดียวกัน อเล็กซานเดอร์ วูวิง อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาความมั่นคง เอเชียแปซิฟิค แดเนียล ดี อิโนย์เอ ในฮาวาย ระบุว่า วิธีทางการทูตเริ่มไม่ได้ผลมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจีน “ไม่รับฟัง” นอกจากนี้ การที่กองทัพเวียดนามยังไม่สามารถสู้กองทัพจีนได้ ทำให้เวียดนามเหลือทางเลือกน้อยลง
บรรดานักวิชาการยังเตือนด้วยว่า เวียดนามต้องเข้าหาศาลระหว่างประเทศอย่างระมัดระวัง เนื่องจากสิ่งก่อสร้างของเวียดนามบนหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้อาจมีขนาดเล็กเกินไปที่จะยืนยันสิทธิ์เขตเศรษฐกิจพิเศษทางทะเลของเวียดนามบริเวณรอบสิ่งก่อสร้างนั้นได้ ซึ่งการเดินเรื่องไปศาลโลกของเวียดนามอาจทำให้จีนลดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและดำเนินการเชิงรุกกับเวียดนามในน่านน้ำมากขึ้น