'เทคโนโลยีเอไอ' นวัตกรรมใหม่ช่วยชีวิตผู้ป่วย กับคำถามเรื่องจริยธรรม

  • VOA

(แฟ้มภาพ) จอแสดงภาพหัวใจมนุษย์แบบสามมิติ ที่ Heidelberg University Hospital เมืองไฮเดลเบิร์ก เยอรมนี

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการวินิจฉัยและรักษาอาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงต่าง ๆ กันมากขึ้น แต่การใช้ AI ในการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่นักจริยธรรมทางการแพทย์เกี่ยวกับวิธีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้

นักวิจัยด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์ กำลังศึกษาค้นคว้าเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยพวกเขาสามารถสร้างแบบจำลองหัวใจของผู้ป่วยแต่ละคนในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเรียกว่า “digital twin” หรือโมเดลเสมือนจริง และใช้ AI ในการช่วยสันนิษฐานได้ดียิ่งขึ้นว่าผู้ป่วยรายใดมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจแบบกะทันหันมากที่สุด

เทคโนโลยีดังกล่าวมีขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาการวินิจฉัยอาการต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น

ศาสตราจารย์ นาตาเลีย ทรายาโนวา แห่งมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์ กล่าวว่า “เราอยากจะให้แพทย์ใช้โมเดลเสมือนจริงของทางสถาบันของเราในขณะตัดสินใจ เพื่อพัฒนาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด หรือเมื่อต้องวินิจฉัยแนวทางรักษาผู้ป่วย หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วย”

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการวิจัยของศาสตราจารย์ทรายาโนวานั้นมุ่งหวังที่จะลดอัตราการเสียชีวิตเหล่านั้นโดยใช้โมเดลจากการสแกนหัวใจของผู้ป่วยแต่ละราย

ศาสตราจารย์ทรายาโนวากล่าวต่อไปว่า นักวิจัยจะทำ MRI ที่หัวใจโดยใช้สารเพิ่มความแตกต่าง จากนั้นจะนำข้อมูลจากการทำ MRI นี้ไปรวมกับข้อมูลทางการแพทย์ทั้งหมดของผู้ป่วย และท้ายที่สุด เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดไปรวมกับการวิเคราะห์อัตราการรอดชีวิต ก็สามารถบอกได้ถึงความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจกะทันหันตลอดระยะเวลา 10 ปี

และว่า เทคโนโลยีดังกล่าวแตกต่างจากภาพหัวใจที่แบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ ซึ่งใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน โดยกล่าวว่า การใช้ภาพหัวใจที่เป็นภาพรวมทั้งหมดจะช่วยให้สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้นว่าผู้ป่วยรายไหนบ้างที่จะต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ

นายแพทย์วิคเตอร์ เวลคูเลสคู หัวหน้าการวิจัยในการพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก ที่ศูนย์มะเร็ง Johns Hopkins Sidney Kimmel Comprehensive Cancer Center กล่าวว่า “น่าเสียดายที่เทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ดังนั้นจึงต้องคิดหาวิธีการใหม่ ๆ และสิ่งที่ทางเรากำลังพัฒนาอยู่นั้นแทบจะเหมือนกับเทคโนโลยีแห่งยุคอวกาศ เลยทีเดียว"

ทั้งนี้ คณะนักวิจัยสังเกตเห็นว่าเซลล์มะเร็งเติบโตและมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์มากกว่าเซลล์ปกติ ดังนั้น เมื่อเซลล์เหล่านั้นตายไป พวกมันจะทิ้งลักษณะเฉพาะของชิ้นส่วนของ DNA ที่ไหลเวียนอยู่ในเลือด ที่เรียกว่า cell-free DNA เอาไว้เบื้องหลัง แต่ในทางตรงกันข้าม รูปแบบการแยกส่วนในผู้ที่ไม่เป็นมะเร็งจะมีความสม่ำเสมอมากกว่า

ทีมงานได้พัฒนาเทคโนโลยีการทดสอบเลือดโดยใช้ระบบการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจจับรูปแบบที่มีความแปรปรวนสูงเหล่านี้ ที่เรียกว่า DELFI ซึ่งเป็นการผสมผสานการจัดลำดับจีโนมทั้งหมดของโมเลกุลเดี่ยวของ DNA ที่หลั่งออกมาจากเนื้องอก

อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการทางแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่นักจริยธรรมทางการแพทย์เกี่ยวกับวิธีการใช้เทคโนโลยีใหม่นี้

เคลลี่ โอเวนส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจริยธรรมทางการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก หรือ NYU กล่าวว่า “เขาต้องการให้มีการทดสอบจนแน่ใจว่าเทคโนโลยีนี้สามารถใช้งานได้ เช่นเดียวกับขั้นตอนและมาตรฐานมากมายในการทดสอบยาชนิดใหม่ ๆ ก่อนที่จะให้ผู้ป่วยใช้ได้ เราควรคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยและประสิทธิภาพในแบบเดียวกันสำหรับการใช้ AI ในทางการแพทย์ด้วย”

ทางด้านองค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำเกี่ยวกับความโปร่งใสในการใช้ข้อมูลจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการประเมินคุณภาพระบบอย่างเข้มงวดเพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ระบบดิจิทัลจะไม่มีข้อผิดพลาดใด ๆ

  • ที่มา: วีโอเอ