ปลาม้าลาย ที่มีลวดลายสีฟ้าสลับสีเงินจำนวนหลายหมื่นตัวถูกเลี้ยง ให้อาหาร และเพาะพันธ์ุในอ่างกระบะที่ตั้งเรียงรายในศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ด้วยความหวังว่า พวกมันจะเป็นกุญแจสำคัญอันนำไปสู่การรักษาอาการป่วยของมนุษย์ซึ่งรวมถึงโรคมะเร็ง
ลาร์ส บรอติกัม ผู้อํานวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ ศูนย์ดูแล Zebrafish Core Facility ของสถาบันวิจัยด้านการแพทย์ Karolinksa ระบุว่า ณ ศูนย์แห่งนี้ได้เลี้ยงปลาม้าลายจำนวนราว 20,000 ตัวเพื่อนำไปวิจัยเป็นการภายใน รวมถึงส่งต่อไปยังภาคเอกชนที่ตั้งอยู่นอกสถาบัน เนื่องจากในตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปลาตัวเล็ก ๆ เหล่านี้ ถูกมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตต้นแบบที่สำคัญสําหรับการวิจัยด้านการแพทย์
บรอติกัม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ปลาม้าลายในทุกการศึกษา ตั้งแต่การวิจัยมะเร็ง เราสามารถปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งลงในปลาม้าลายและทดสอบยามะเร็งชนิดใหม่ รวมถึงศึกษาโรคที่พบยากและยังไม่ทราบถึงสาเหตุของโรคที่แน่ชัด
ผู้อํานวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ อธิบายเกี่ยวกับฟีโนไทป์ (phenotype) ซึ่งก็คือลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่ปรากฏให้เห็นโดยการควบคุมของยีนของสิ่งมีชีวิต โดยระบุว่า มีการพบว่า ฟีโนไทป์ของปลาม้าลายนั้นมีความใกล้เคียงกับฟีโนไทป์ของผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์ ก่อนจะพบว่า สภาพแวดล้อมทางพันธุกรรมของปลาม้าลายและผู้ป่วยนั้นก็ไม่ต่างกันเลย
ทั้งนี้ ปลาสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นที่นิยมในการวิจัย เนื่องจากพวกมันผสมพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วและขยายพันธุ์ในจำนวนมาก ลูกปลาเหล่านี้พัฒนาอย่างว่องไว โดยหลังฟักออกจากไข่ภายในระยะเวลาเพียงห้าวัน พวกมันจะสามารถว่ายน้ำได้แล้ว
ปลาม้าลายหรืออีกชื่อคือ ปลาดานิโอม้าลาย (zebra danio) ถูกใช้ในการวิจัยอย่างกว้างขวาง ด้วยปัจจัยด้านการเงิน โดยเหตุผลส่วนหนึ่งก็คือ การที่มีต้นทุนการขยายพันธุ์ที่ต่ำกว่าสัตว์สำหรับการวิจัยอื่น ๆ อย่างเช่น หนู อีกทั้งปลาเหล่านี้ยังมีช่วงวงจรชีวิตที่สั้นอีกด้วย
บรอติกัม หัวหน้าศูนย์ Zebrafish Core Facility อธิบายถึงประโยชน์ของวงจรชีวิตที่สั้นของสัตว์วิจัยว่า มันเอื้อต่อการทดลอง เพราะในระยะเวลาไม่นาน สิ่งมีชีวิตจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้มีโอกาสศึกษาการพัฒนาของอวัยวะเพื่อเข้าใจถึงพัฒนาการทางสมองหรือโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ในช่วงเวลาอันสั้นได้
สำหรับศูนย์วิจัยด้านนี้ที่ตั้งอยู่ที่เมืองหลวงของสวีเดน ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศนอร์ดิก หรือในภูมิภาคยุโรปเหนือ และภายในมีการใช้งานหุ่นยนต์สแกนบาร์โค้ดที่ติดตั้งอยู่บนอ่างกระบะเลี้ยงปลาและให้อาหารปลาแบบอัตโนมัติ เพื่อรอการนำเข้าสู่กระบวนการวิจัยต่อไป
ผู้อำนวยการศูนย์ Zebrafish Core Facility บอกกับผู้สื่อข่าวว่า สิ่งที่ศูนย์แห่งนี้ทำนั้นก็จะเป็นการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งมาที่ตัวอ่อนของปลาม้าลาย ก่อนจะทำการทดลองยาต่าง ๆ ที่หวังว่าจะนำไปใช้รักษากับผู้ป่วยได้จริงในอนาคต เพื่อทดสอบว่า ยาใหม่ ๆ นั้นมีประสิทธิภาพดีกว่ายาที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงใด
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น