หน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่สังเกตการณ์เลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว ออกมายืนยันว่า ไม่มีหลักฐานบ่งชี้เหตุทุจริตใดๆ ดังที่กองทัพเมียนมาอ้างเป็นเหตุผลในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ที่นำโดย นางอองซานซูจี
สำนักข่าว AP รายงานว่า หน่วยงาน Asian Network for Free Elections (ANFREL) เปิดเผยรายงานชิ้นใหม่ในวันจันทร์ ที่กล่าวว่า แม้จะมีการพบข้อผิดพลาดบางประการในกระบวนการเลือกตั้งของเมียนมา การจัดการลงคะแนนเลือกตั้งนั้น มีการวางขั้นตอนการป้องกันความผิดปกติต่างๆ ไว้มากมาย โดยขั้นตอนทั้งหลายนั้นทั้งโปร่งใสและไว้วางใจได้”
อย่างไรก็ตาม รายงานล่าสุดนี้ยังชี้ว่า กระบวนการเลือกตั้งของเมียนมา “ไม่เป็นไปตามพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย” เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 2008 ที่ใช้อ้างอิงการจัดการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว ถูกเขียนขึ้นในช่วงที่เมียนมาถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร และระบุให้กองทัพมีสิทธิ์ได้ที่นั่งในรัฐสภาเป็นสัดส่วน 25 เปอร์เซ็นต์โดยอัตโนมัติ ที่หมายถึง อำนาจในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งมีเงื่อนไขปิดกั้นสิทธิ์การเป็นประชากรของประเทศของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจา ที่ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ด้วย
และหลังการยึดอำนาจการปกครองมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ กองทัพเมียนมาได้จับกุมตัว นางอองซานซูจี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลพลเรือนไว้หลายราย พร้อมประกาศภาวะฉุกเฉินในประเทศ เพื่อให้ตนเองปกครองประเทศต่อไปจนกว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน
การทำรัฐประหารครั้งนี้ทำให้ประชาชนทั่วประเทศออกมาชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่กองทัพเมียนมาจะใช้กำลังและมาตรการรุนแรงเข้าปรามปราม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายร้อยคน และมีผู้ถูกจับกุมตัวไปหลายพันคนแล้ว
รายงานของ ANFREL ระบุว่า แม้พลเอง มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา และพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party) ที่มีทหารหนุนหลัง จะพยายามอ้างว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีการทุจริตอย่างกว้างขวาง เท่าที่ผ่านมา “ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่ได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระว่า คำกล่าวหาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเป็นความจริงได้เลย”
นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ANFREL กล่าวว่า การที่คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งเมียนมายกเลิกการลงคะแนนในหลายพื้นที่โดยอ้างว่าเหตุผลด้านความปลอดภัย เป็นการดำเนินการที่คลุมเครือและทำตามอำเภอใจ ขณะที่การอ้างกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติที่เลือกปฏิบัติต่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม และการยุบพรรค United Democratic Party ซึ่งเป็นพรรคที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งมากเป็นอันดับที่ 2 เพียง 3 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง ทำให้เกิดการเสียสิทธิ์ของผู้ที่ลงคะแนนล่วงหน้าไปแล้วด้วย