วิเคราะห์: จังหวะก้าว 'เพื่อไทย' สร้างปัญหาหรือผ่าทางตัน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (ซ้าย) หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พนมมือทักทายนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อ 17 พฤษภาคม 2566 (ที่มา: เอพี)

นักวิชาการและแกนนำการชุมนุมอ่านเกมการเมืองหลังเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หวัง 8 พรรคกอดคอเดินหน้าต่อ แต่หากต้องข้ามขั้ว รายละเอียดต้องชัด ไม่ถีบหัวส่งก้าวไกล ชูแก้ รธน. นิรโทษกรรมเหยื่อการเมืองเร่งด่วน ยับยั้งความขัดแย้งและความไม่พอใจที่อาจบานปลาย

นักวิชาการและแกนนำการชุมนุมอ่านเกมการเมืองหลังเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หวัง 8 พรรคกอดคอเดินหน้าต่อ แต่หากต้องข้ามขั้ว รายละเอียดต้องชัด ไม่ถีบหัวส่งก้าวไกล ชูแก้ รธน. นิรโทษกรรมเหยื่อการเมืองเร่งด่วน ยับยั้งความขัดแย้งและความไม่พอใจที่อาจบานปลาย

เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล การเมืองของไทยก็เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ซับซ้อนและซ่อนเงื่อน ไม่ว่าจะเป็นภาพของการพูดคุยระหว่างแกนนำเพื่อไทยกับพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิม ที่แม้เพื่อไทยยืนยันว่ากระทำบนฐานมติของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็มิวายสร้างความระแวงว่าเพื่อไทยอาจเกิดการตั้งรัฐบาลแบบ ‘ข้ามขั้ว’ ขึ้น

เหมือนจะกระหน่ำซ้ำกระแสให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก การประกาศของอดีตนายกฯ นายทักษิณ ชินวัตร ว่าจะกลับไทยในวันที่ 10 สิงหาคม ตามมาด้วยข่าวลือ ‘ซูเปอร์ดีล’ กระเซ็นกระสายระหว่างนายทักษิณ กลุ่มรัฐบาลเดิม รวมถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า ผู้นำทางความคิดของพรรคก้าวไกลที่ฮ่องกง ยิ่งทำให้จังหวะก้าวต่อไปของเพื่อไทยเป็นที่น่าจับตามองภายใต้ภาวะตีบตันทางการเมืองที่จะเลือกเดินทางไหนก็ไม่สะดวก

วีโอเอไทยสัมภาษณ์นักวิชาการและหนึ่งในแกนนำการชุมนุมเพื่ออ่านท่าทีของเพื่อไทย และราคาที่ต้องจ่ายจากเส้นทางที่เลือกเดิน และประเมินอารมณ์ของมวลชนในโมงยามที่สถานการณ์การเมืองเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

‘ดีลข้ามขั้ว-ทักษิณกลับบ้าน’ สะท้อนเกมอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่าน

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองการแสวงหาเสียงสนับสนุนจากอีกฟากฝั่งของขั้วการเมืองของเพื่อไทยว่าเป็นการยืมปากพรรคอื่นพูดว่าจะไม่ร่วมงานกับพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ชัดเจนแล้วว่าถูกสกัดกั้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจากชนชั้นนำ

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว (Courtesy)

ภายใต้เงื่อนไขที่สมาชิกรัฐสภามีมติว่าการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (แคนดิเดทนายกฯ) ซ้ำไม่ได้ ทำให้เพื่อไทยตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก เพราะหากไม่หาเสียงสนับสนุนเพิ่มก็มีความเสี่ยงที่แคนดิเดทจะถูกคว่ำไปจนหมดตัวเล่น แต่ครั้นจะไปหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมจากฝ่ายรัฐบาลเดิม ก็ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์

ด้วยภาวะเช่นนี้ รศ.โอฬารมองว่าเป็นสาเหตุที่เพื่อไทยต้องเล่นเกมสูงด้วยการเปิดหน้าไพ่ไปถึง “เจ้าของพรรคตัวจริง” เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลจบที่เพื่อไทยให้ได้ในช่วงเปลี่ยนผ่านการเมือง

“เพราะอยากหยุดเกมไว้ ตรงนี้ซูเปอร์ดีลก็เกิดขึ้น ที่ต้องคุยกันระหว่างคุณทักษิณ คุณธนาธร ชนชั้นนำในกองทัพและนักการเมืองเพื่อที่จะหาทางลง หาทางออกให้กับรัฐบาลหลังจากนี้ไป สุดท้ายการเมืองของเราเป็นการเมืองของชนชั้นนำที่จะไปคุยกันว่าจะเอายังไง”

“กระบวนการเปลี่ยนผ่านหลังจากนี้ไปก็จะเป็นการแบ่งมิตรแบ่งศัตรูกันชัด เพื่อไทยก็จะกลายเป็นฝั่งอนุรักษ์นิยมไปเลย ก้าวไกลก็จะเป็นฝั่งเสรีนิยมที่ค่อนไปทางสังคมนิยม กระบวนการเปลี่ยนแปลงจะยื้อกันอยู่ระยะหนึ่ง อย่างที่ (อันโตนิโอ) กรัมชี่บอก ว่าไอ้สังคมเก่ากำลังจะตายนะแต่ก็ยังไม่ตาย ไอ้สิ่งใหม่กำลังจะเกิดแต่ก็ยังไม่เกิด เวลานี้เป็นเวลาปีศาจหรือต้องยื้อแย่งกัน” รศ.โอฬารกล่าว

ด้านนายชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ผู้เคยทำวิจัยเรื่องการเมืองสีเสื้อและการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ มองว่าหากเพื่อไทยตัดสินใจข้ามขั้วจริงก็ย่อมจะต้องเสียฐานมวลชนที่ร่วมต่อสู้ด้วยกันมานาน

ชัยพงษ์ สำเนียง (Courtesy)

นายชัยพงษ์วิเคราะห์ว่าฐานเสียงของเพื่อไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือนั้น เท่าที่เห็นมีสาเหตุจากความนิยมในอุดมการณ์ประชาธิปไตยควบคู่กับนโยบายประชานิยม จึงเป็นคำอธิบายถึงความนิยมของพรรคก้าวไกลในหลายพื้นที่ดังกล่าวทั้งในระดับเขตและบัญชีรายชื่อที่แสดงความชัดเจนทางอุดมการณ์ได้มากกว่าจนสามารถแย่งฐานเสียงของเพื่อไทยไปได้

ดังนั้น เมื่อพิจารณาปัจจัยมวลชนและการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ของฐานเสียงแล้ว การกลับบ้านของนายทักษิณและการเร่งจับขั้วรัฐบาลอาจไม่เกิดผลสะท้านสะเทือนอย่างที่ตั้งใจ มิหน้ำซ้ำ สถานะของเพื่อไทยในแง่ตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยอาจถูกท้าทายในระยะยาว

“ผมคิดว่ายังไงคุณทักษิณกลับมาเนี่ย ถามว่าจะมาเปลี่ยนขั้วอำนาจโครงสร้างอำนาจที่มันแน่นหนาแบบนี้ได้เหรอ ตั้งคำถามง่ายที่สุดว่า จะได้เหรอ ขนาดที่มีเรือเหล็ก 300 กว่าเสียงยังไปไม่ได้ อำนาจเก่ายังอยู่ คุณทักษิณก็ต้องไปต่อรองยอมแลกเรื่องบางเรื่องกับความอำนาจเก่าจำนวนมหาศาล รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมันจะเปลี่ยนแปลงจะแฮปปี้เอนดิ้งเหรอ ผมว่าไม่ใช่”

“ดีไม่ดีเพื่อไทยจะมีสถานะแบบพรรคประชาธิปัตย์สมัยก่อนก็คือโดนพรรคเหล่านี้ [พรรคฝ่ายรัฐบาลเดิม] ขี่หัวอยู่ ทำนโยบายก็ไม่ได้ทำอะไรเขาเรียกถ่วงน้ำประชาธิปไตยไม่ต้องคิดถึงแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นไปแทบไม่ได้ อันนี้คือฉากทัศน์ที่ผมใช้คำว่าเลวร้ายและประเทศก็ติดหล่มอยู่ที่เดิม” นายชัยพงษ์กล่าว

เกมสั้น-เกมยาว ใครได้ใครเสีย

นายชัยพงษ์เสนอว่าเพื่อไทยควรยืนยันบนหลักประชาธิปไตยแล้วอยู่กับกลุ่ม 8 พรรคร่วมต่อไปและรอจนกว่าสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบันจะหมดวาระและไม่มีสิทธิลงมติเลือกนายกฯ เพื่อรักษาความชอบธรรมของฝ่ายที่ได้เสียงข้างมากจากประชาชน และโยนความไม่ชอบธรรมให้ฝ่ายที่คิดจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

อาจารย์จาก มน. มองว่าพรรคภูมิใจไทยที่มีเสียงเยอะที่สุดในสภาเป็นอันดับ 3 และกำลังมีอำนาจต่อรองสูง ก็คงไม่ชอบการร่วมรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่อาจมีอายุสั้นหรือทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะสูตรสำเร็จของภูมิใจไทยคือการได้เป็นรัฐบาลแล้วนำทรัพยากรไปแปลงเป็นคะแนนเสียงในพื้นที่ ซึ่งจุดนี้เป็นเหตุผลระหว่างบรรทัดภายใต้การปฏิเสธที่จะร่วมรัฐบาลกับก้าวไกลด้วยเหตุผลว่า ‘วิธีการทำงานไม่ตรงกัน’

ตัวแทนกลุ่ม 8 พรรค นำโดยพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่ได้ที่นั่งในสภามากที่สุด คล้องแขนจับมือกันเป็นสัญลักษณ์หลังแถลงบันทึกความเข้าใจร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566 (ที่มา: เอพี)

“ผมคิดว่าถามคนทั่วไป เขาไม่ได้ยี่หระกับ 10 เดือน 20 เดือน หรอก 9 ปีเขาอยู่กับรัฐบาลแบบนี้มา นับไปเป็น 10 ปีที่เขาอยู่กับขั้วอำนาจของรัฐบาลนี้ที่จะมาอยู่กับพรรคเพื่อไทยเนี่ย คุณต่าง ๆ ลุงต่าง ๆ เนี่ย เขา (ประชาชน) อยู่ได้ ผมคิดว่าอันนี้คือสิ่งที่คุณจะคิดการเมืองในระยะยาวหรือการเมืองในระยะสั้น” ชัยพงษ์กล่าว

รศ.โอฬารเสนอว่า ในกรณีที่ 8 พรรคไม่สามารถไปต่อได้จริง ๆ และต้องเข้าสู่ภาวะแบ่งมิตรแบ่งศัตรูกันแล้วก็ควรต้องถอยอย่างมีชั้นเชิง พรรคก้าวไกลที่ต้องถอยเป็นฝ่ายค้านควรโหวตให้กับรัฐบาลขั้วใหม่ให้ได้เสียงสนับสนุนเกิน 375 เสียง ภายใต้สองเงื่อนไข หนึ่ง บรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วน สอง นิรโทษกรรมผู้ประสบภัยทางการเมือง หากเงื่อนไขครบและก้าวไกลทำงานฝ่ายค้านอย่างแข็งขัน อย่างไรเสีย เลือกตั้งสมัยหน้าก็จะยังได้ความนิยมอยู่

“ในการเมือง การแพ้ชนะมันขึ้นอยู่กับการต่อรอง ไม่มีใครได้อะไรหมดในเกม มันไม่มีซีโร ซัม เกม (ฝ่ายหนึ่งได้หมด อีกฝ่ายหนึ่งเสียหมด) มันเป็นวิน-วิน โซลูชั่น (ทุกฝ่ายชนะหมด)”

“อยากให้คนไทยเข้าใจว่าซีโร ซัม เกมในระบอบประชาธิปไตยไม่มี ซีโร ซัม เกม มีเฉพาะระบบเผด็จการ ประชาธิปไตยมันวิน-วินโซลูชั่น” โอฬารกล่าว

หากการเมืองในสภาดุ การเมืองนอกสภาก็เดือด

แม้มองว่าความเป็นไปได้ของการข้ามขั้วนั้นมีสูง แต่โอฬารมองว่าหากเพื่อไทยตัดสินใจข้ามขั้วแบบไม่มีพรรคก้าวไกลในสมการอีกต่อไป และพรรคก้าวไกลถูกทำลายลงเหมือนพรรคอนาคตใหม่และแกนนำชุดเดิม ก็อาจเปิดประตูสู่ความขัดแย้ง การชุมนุมที่รุนแรงบานปลาย และอาจนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้ง

ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลร่วมการชุมนุมในวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 มือข้างหนึ่งถือภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และถือป้ายข้อความที่มืออีกข้างหนึง (ที่มา: เอพี)

“ก็คือเพื่อไทยยอมย้ายข้าง ย้ายข้างไปอยู่ฝั่งหนึ่งเลย แล้วก็ผลักพรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์และพรรคไทยสร้างไทยมาเป็นฝ่ายค้าน คือผลักอย่างไม่มีเยื่อใย ผมคิดว่าประชาชนรับไม่ได้แน่ รู้สึกว่าเจตจำนงประชาชนที่เขาอยากให้ก้าวไกลกับเพื่อไทยมัดรวมกันมันโดนฉีกไป”

“ฝ่ายความมั่นคงเขาประเมินไม่เยอะ แต่ผมบอกว่าประมาทมวลชนไม่ได้ในสถานการณ์แบบนี้ที่ประชาชนกลายเป็นผู้เล่นทางการเมือง ซึ่งมันแตกต่างจากก่อนหน้านี้ประชาชนเป็นเพียงแค่ผู้ดู” รศ.โอฬารกล่าว

ด้านนายชัยพงษ์มองว่าหากเกิดการข้ามขั้วแบบค้านสายตาฐานเสียง จะยิ่งทำให้ประเทศวุ่นวายขึ้นเมื่อต้องเกิดการรับมือกับมวลชนที่ออกมาชุมนุม

“พรรคเพื่อไทยจะปราบม็อบเหรอ จะเอาคนไปล้อมคนเสื้อแดงที่เคยอยู่ในพรรคของตัวเองหรอ จะเอาคนเสื้อแดงไปล้อมปราบ เอาทหารตำรวจไปล้อมปราบคนรุ่นใหม่เหรอ ผมคิดว่ามันจะจัดการยังไง ประเทศจะวุ่นวายแบบไพศาล”

นับตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลโดยก้าวไกลถูกคว่ำ กระแสการชุมนุมของประชาชนเริ่มกลับขึ้นสู่กระแสสูงอีกครั้ง สะท้อนจากการจัดชุมนุมแบบไปแล้วกลับ หรือ ‘แฟลชม็อบ’ ในจุดสำคัญ ๆ ของกรุงเทพฯ และในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง

แม้จะยังไม่ล้นหลามอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2563-2565 แต่ก็เป็นกระแสที่สะท้อนว่าการเมืองนอกสภามีความพร้อมที่จะตอบสนองต่อการตัดสินใจของการเมืองในสภา

นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในแกนนำการชุมนุมกลุ่มราษฏรกล่าวกับวีโอเอไทยว่าสาเหตุที่คนยังไม่ออกมาเยอะนั้นเป็นเพราะการเมืองยังไม่ถึงทางตัน และยังไม่เกิด “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทุกคนจะเห็นร่วมกันว่าต้องทิ้งความเห็นที่แตกต่างไว้ก่อนแล้วออกมาเรียกร้องสิ่งเดียวกัน

อานนท์ นำภา ขณะปราศรัยในการชุมนุมเมื่อ 14 ตุลาคม 2563 (ที่มา: เอพี)

เขาเชื่อว่าหากประชาชนออกมาอย่างล้นหลามทั่วประเทศ ก็ย่อมเป็นปัจจัยชี้ขาดในทางการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนใจ สว. หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอื่น ๆ

“ผมคิดว่าตอนนี้คนไม่พอใจกันทั้งประเทศแหละ แต่ว่าการที่จะลงท้องถนนมันต้องมีเหตุปัจจัยหลาย ๆ อย่าง แล้วก็ตอนนี้ผมว่าคนพร้อมที่จะลงถนนนะ”

“มันต้องรอเหตุปัจจัย เงื่อนไขที่จะออกอย่างที่ไม่สามารถปฏิเสธได้” นายอานนท์กล่าว