Your browser doesn’t support HTML5
ที่ผ่านมา เราอาจรู้จักหรือเคยใช้เชื้อเพลิงที่สกัดจากพืชกันมาบ้างแล้ว รวมทั้ง ข้าวโพด และถั่วเหลือง แต่เวลานี้ นักวิจัยอังกฤษสามารถพัฒนาเซลล์พลังงานที่ผลิตจากสาหร่าย ซึ่งเชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเชื้อเพลิงจากพืชชนิดอื่นๆ คือ นอกจากจะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติแล้ว ยังสามารถแบ่งตัวและซ่อมแซมตัวเองได้ด้วย
ปกติแล้ว สาหร่ายที่แพร่ขยายพันธุ์จนไปปิดกั้นเส้นทางน้ำต่างๆ นั้น อาจกลายเป็นวัชพืชที่ไม่มีใครต้องการ แต่ที่ห้องแล็บของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในประเทศอังกฤษ ได้มีการนำสาหร่ายเหล่านั้นมาศึกษาเพื่อนำมาผลิตเป็นเซลล์เชื้อเพลิงประสิทธิภาพสูง
คุณเปาโล บอมเบลลี นักชีวเคมีที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า เวลานี้ทีมนักวิจัยของเขาสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ในระดับ 0.5 วัตต์ ต่อ 1 ตารางเมตร ได้จากเซลล์เชื้อเพลิงที่ผลิตขึ้นจากสาหร่าย ซึ่งแม้จะเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ไม่มากนัก คือราวๆ 1 ใน 10 ของไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์หนึ่งแผงเท่านั้น แต่ก็เพียงพอสำหรับการชาร์จอุปกรณ์ที่ไม่ต้องใช้พลังงานมาก อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
นักวิจัยชี้ว่า ข้อได้เปรียบสำคัญของพลังงานที่ได้จากเซลล์เชื้อเพลิงจากสาหร่าย หรือที่เรียกว่า BPV (Bio – Photo – Voltaic) คือ เป็นพลังงานที่สะอาด และไฟฟ้าที่ได้จาก BPV สามารถกักเก็บไว้ได้นานในรูปของเหลว โดยสามารถนำกลับมาใช้เมื่อไรก็ได้โดยที่ไม่เสื่อมสภาพไป และยังสามารถชาร์จไฟในตอนกลางวันและนำไปใช้ในเวลากลางคืนได้
นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า แม้เซลล์เชื้อเพลิงจากสาหร่ายนี้จะยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับนำไปใช้กับระบบจ่ายไฟฟ้าตามบ้านเรือนต่างๆ แต่ก็อาจมีประโยชน์สำหรับการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึง และยังถือเป็นพลังงานสีเขียวอย่างแท้จริง
(ผู้สื่อข่าว Faith Lapidus รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)