ผู้เชี่ยวชาญประมาณว่ามีคนราว 790 ล้านคนทั่วโลกที่ประสบกับภาวะขาดอาหารรุนเเรง คนเหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศยากจนเหล่านี้มีปัญหาด้านการขนส่งอาหารให้ไปถึงมือผู้ที่อดอยาก
นอกเหนือจากปัญหาการขนส่งอาหารเเล้ว สตีเฟ่น เมย์ฟิลด์ นักพันธุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานดิเอโก กล่าวว่ายังมีปัญหาที่รุนแรงกว่านั้น
เขากล่าวว่าคนจำนวนมากทั่วโลกไม่ได้ขาดแคลนอาหารจำพวกพลังงาน แต่ขาดอาหารที่ให้โปรตีนและกรดไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายชนิดต่างๆ
แต่โปรตีนเเละกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในสาหร่าย
สตีเฟ่น เมย์ฟิลด์ นักพันธุศาสตร์อเมริกัน กล่าวว่าตามธรรมชาติเเล้ว สาหร่ายอุดมไปด้วยโปรตีนและกรดไขมัน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่โลกกำลังต้องการเป็นอย่างมาก
ดังนั้น เมย์ฟิลด์ และทีมนักวิจัย ได้ทำตกแต่งโครงสร้างระดับโมเลกุลของสาหร่ายที่อุดมไปด้วยโปรตีนที่สามารถนำไปตากให้แห้งและใช้เป็นอาหารเสริมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
สตีเฟ่น เมย์ฟิลด์ นักพันธุศาสตร์อเมริกัน นำสาหร่ายตกแต่งโมเลกุลตากเเห้งที่ทีมงานผลิตขึ้นมาให้ดู เขากล่าวว่าแผ่นสาหร่ายแห้งนำไปบดเป็นผงสีเขียว รับประทานได้เเละยังมีรสชาดดีด้วย
เมย์ฟิลด์มีความคิดที่จะนำสาหร่ายไปใช้ทดแทนโปรตีนจากสัตว์ได้ในอนาคต ช่วยลดการใช้ที่ดินและแหล่งทรัพยากรที่เกษตรกรต้องใช้ในการปลูกถั่วเหลืองหรือในการเลี้ยงปศุสัตว์ลง
สตีเฟ่น เมย์ฟิลด์ กล่าวว่ารู้สึกมีกำลังใจอย่างมากที่ได้เห็นบริษัทใหม่ๆ จำนวนมาก ที่เริ่มผลิตโปรตีนเทียมจากพืชเพื่อใช้ทดแทนโปรตีนจากสัตว์ และมีหน้าตาเหมือนกับเนื้อสัตว์
งานวิจัยของเมย์ฟิลด์นี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ และทีมงานวิจัยของเขาเพิ่งเสร็จสิ้นการทดสอบภาคสนามที่ทดลองปลูกสาหร่ายสำหรับเเต่งโครงสร้างโมเลกุลภายนอกห้องทดลองได้สำเร็จ
เเม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีการผลิตสินค้าที่จะออกมาวางขายในตลาด แต่เมย์ฟิลด์หวังว่าสาหร่ายอาจจะเป็นอาหารอุดมด้วยโปรตีนและกรดไขมันชนิดหนึ่ง ที่จะช่วยแก้ปัญหาความอดอยากทั่วโลกได้
(รายงานโดย Kevin Enochs / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว )