พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศสวีเดน เป็นจุดที่มีปัญหาสาหร่ายทะเลเติบโตเร็วเเละแพร่กระจายมากเกินไป จนทำให้น้ำขาดออกซิเจน
การเติบโตอย่างรวดเร็วของสาหร่ายในบริเวณนี้เกิดจากปุ๋ยเคมีจากพื้นที่เพาะปลูกซึ่งไหลลงสู่ทะเลบอลติก
Tom Arnbom แห่ง World Wide Fund For Nature กล่าวว่า ทะเลบอลติกเป็นเหมือนอ่าวขนาดใหญ่ของมหาสมุทรแอตเเลนติก และมีประเทศถึง 9 ประเทศตั้งอยู่ในบริเวณนี้ มีคนอาศัยอยู่ถึง 90 ล้านคน มีพื้นที่เกษตรกรรมมากมายเเละมีการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อกระตุ้นผลผลิตของพืชที่เพาะปลูก ทำให้มีสารฟอสฟอรัสและไนโตรเจนไหลลงไปสู่ทะเลบอลติก ทำให้บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำของสวีเดนมีสาหร่ายเติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่บรรดานักอนุรักษ์กล่าวว่า 'ปลาไพค์' ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่มากับน้ำที่ทะลักออกมาจากหนองบึงเเละขยายพันธุ์ออกลูกออกหลานในพื้นที่ชุ่มน้ำ มีบทบาทในการช่วยควบคุมปริมาณสาหร่ายในพื้นที่ทางอ้อม
Oascar Olseryo แห่ง Swedish Anglers Association กล่าวว่า ปลาไพค์จะตามน้ำที่อุ่นที่ไหลออกมาจากพื้นที่ชุ่มน้ำและว่ายน้ำทวนขึ้นมาตามคลองและธารน้ำ จนมาถึงพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งปลาไพค์ได้กลายเป็นตัวช่วยควบคุมปริมาณสาหร่ายที่เติบโตในพื้นที่ชุ่มน้ำ
Oascar Olseryo กล่าวว่า ในปี 2014 มีจำนวนปลาไพค์ทั้งหมด 62 ตัวที่ว่ายขึ้นมาถึงจุดวางไข่ และในปีต่อๆ มา อย่างปีที่แล้ว พบว่ามีปลาไพค์ตัวเล็กๆ จำนวนมากที่ว่ายมาจากพื้นที่ชุ่มน้ำ เเละมาในปีนี้ มีปลาไพค์มากถึง 350 ตัวในพื้นที่
ปลาไพค์มีบทบาทช่วยควบคุมปริมาณสาหร่ายโดยทางอ้อม เพราะปลาไพค์กินปลาที่เล็กกว่า เเละปลาเล็กกว่ากินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหารอีกต่อหนึ่ง เเละเเพลงก์ตอนสัตว์กินสาหร่ายเป็นอาหาร
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าสาหร่ายเป็นตัวต้นเหตุให้เกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่น หรือภาวะน้ำทะเลขาดออกซิเจน
Tom Arnbom แห่ง World Wide Fund For Nature กล่าวว่า ปลาไพค์ถือว่ามีประโยชน์มากเพราะเป็นปลาที่กินปลาอื่นๆ เป็นอาหารที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดปรากฏการณ์น้ำทะเลขาดอ็อกซิเจน เพราะมีสาหร่ายมากเกินไปในทะเลบอลติกซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนเเละสัตว์ในพื้นที่
เนื่องจากภาวะน้ำทะเลขาดอ็อกซิเจนทำให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลตายลงและทะเลบอลติกก็จะตายตามไปด้วย
(รายงานโดย Kevin Enochs / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว )