เป็นข่าวต้อนรับปีใหม่สำหรับคอดื่มในไทย หลังจากเมื่อวันที่ 2 มกราคม คณะรัฐมนตรีไทยเห็นชอบให้ลดภาษีสุราพื้นบ้านและไวน์ เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวสวนทางกับข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่เตือนให้ประเทศต่าง ๆ เพิ่มภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชน และลดการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์
เว็บไซต์ของทำเนียบรัฐบาลไทยระบุว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้เก็บภาษีสุราแช่ชนิดไวน์และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น เป็นภาษีอัตราเดียวตามมูลค่าที่ 5% และเก็บภาษีสุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขอองงุ่นหรือไวน์ เป็นภาษีอัตราเดียวตามมูลค่าที่ 0%
ส่วนสุราพื้นบ้าน เช่น อุ กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้าน และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี จากเดิมเก็บภาษีตามมูลค่า 10% ลดเหลือ 0% ขณะที่ภาษีปริมาณเก็บเท่าเดิม 150 บาทต่อปริมาณหนึ่งลิตร ขณะที่สุราแช่ที่มีสุรากลั่นผสม เช่น โซจูที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี ให้เก็บภาษีตามมูลค่าที่ 10% เท่าเดิม แต่ขึ้นภาษีปริมาณจากเดิม 150 บาทต่อลิตร เป็น 255 บาทต่อลิตร
ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า มาตรการลดภาษีสุราดังกล่าว จะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยทุกระดับ และเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงได้อย่างยั่งยืน โดยรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจะช่วยทดแทนรายได้จากภาษีที่ลดลงได้
ภาคการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว ไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่าวชาติ 28 ล้านคน สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท โดยในปีนี้ ไทยตั้งเป้านักท่องเที่ยวไว้กว่า 34 ล้านคน ตามข้อมูลจากกระทวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงการคลัง
มาตรการลดภาษีสุราเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทยนั้น สอดคล้องกับแนวโน้มการกำหนดภาษีสุรารวมถึงเครื่องดื่มรสหวานทั่วโลกที่มีแนวโน้มภาษีต่ำ ตามข้อมูล WHO เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม WHO กลับเตือนว่า การกำหนดภาษีสุราต่ำสะท้อนถึงการที่ภาครัฐไม่กำหนดนโยบายภาษีเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพ โดยมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มสุราทั่วโลกปีละ 2.6 ล้านคน
ทั้งนี้ มี 148 ประเทศทั่วโลกที่กำหนดภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม มีประเทศกว่า 22 ประเทศที่ยกเว้นภาษีสรรพสามิตต่อเครื่องดื่มประเภทไวน์ โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศยุโรป ขณะที่สัดส่วนภาษีสรรพสามิตในเบียร์ยี่ห้อที่ขายดีคิดเป็น 17.2% ของราคาเบียร์ และสัดส่วนภาษีในเครื่องดื่มประเภทสุรายี่ห้อที่ติดตลาด คิดเป็น 26.5% ของราคาเครื่องดื่ม
WHO ยังเผยถึงผลการศึกษาเมื่อปี 2017 ที่พบว่า การเพิ่มราคาแอลกอฮอล์ขึ้น 50% จะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาถึง 21 ล้านคน และจะทำให้ทั่วโลกมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 17 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 594 ล้านล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับรายได้ในหนึ่งปีของรัฐบาลประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดแปดประเทศรวมกัน
องค์การอนามัยโลกยังยกตัวอย่างถึงประเทศลิทัวเนีย ที่เพิ่มภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อปี 2017 และมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวกับการบริโภคลดลงหลังจากนั้น ลิทัวเนียมีรายได้จากการเพิ่มภาษีแอลกอฮอล์จาก 234 ล้านยูโร (8,900 ล้านบาท) เมื่อปี 2016 เพิ่มเป็น 323 ล้านยูโร (12,300 ล้านบาท) เมื่อปี 2018 และมียอดผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ลดลงจาก 23.4 ต่อประชากร 100,000 คนจากปี 2016 เป็น 18.1 คนต่อประชากร 100,000 คนในปี 2018
ผลการวิจัยยังเผยว่า การเก็บภาษีแอลกอฮอล์ช่วยลดปริมาณการบริโภคสินค้าประเภทดังกล่าว และช่วยกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ผลิตสินค้าที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น การเก็บภาษีในลักษณะนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และโรคไม่ติดต่อ เช่น มะเร็ง เบาหวาน และโรคหัวใจด้วย
- ที่มา: ทำเนียบรัฐบาลไทย, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงการคลัง, องค์การอนามัยโลก