ห่วงโซ่อุปทานโลกที่ถูกกดดันอย่างหนักจากภาวะระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา กำลังเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ เพิ่มหลังการที่รัสเซียส่งกองทัพบุกยูเครนทำให้นานาประเทศออกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้ภาคการขนส่งเกิดการหยุดชะงักและต้นทุนการต่างๆ พุ่งขึ้นยิ่งไปอีก
ในเวลานี้ การขนส่งระหว่างยุโรปและภูมิภาคเอเชียเหนือ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนเริ่มส่งสัญญาณมีปัญหาแล้ว เนื่องจากการดำเนินมาตรการปิดน่านฟ้าต่างๆ ที่ทำให้สายการบินสัญชาติยุโรปไม่สามารถบินผ่านไซบีเรียได้ ขณะที่สายการบินสัญชาติรัสเซียก็ไม่สามารถบินผ่านน่านฟ้ายุโรปได้เช่นกัน
เฟรเดริค ฮอร์สท ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษา คาร์โก แฟคท์ส คอนซัลติง (Cargo Facts Consulting) บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันอังคารว่า สายการบินต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวรับหน้าที่ขนส่งสินค้าราว 20% ของสินค้าที่มีการขนส่งทางอากาศทั่วโลก
นับตั้งแต่มีการประกาศการดำเนินมาตรการห้ามบินมา สายการบิน ลุฟท์ฮันซ่า (Lufthansa) ของเยอรมนี สายการบิน แอร์ฟรานซ์ (Air France) ของฝรั่งเศส สายการบิน ฟินน์แอร์ (Finnair) ของฟินแลนด์ และสายการบิน เวอร์จิน แอตแลนติก (Virgin Atlantic) ของอังกฤษ สั่งยกเลิกเที่ยวบินขนส่งสินค้าเส้นทางเอเชียเหนือไปแล้ว ขณะที่ สายการบินหลักๆ ของเอเชีย เช่น โคเรียน แอร์ (Korean Air) ของเกาหลีใต้ และ สายการบิน ออล นิปปอน แอร์เวย์ (ANA) ของญี่ปุ่น รวมทั้งสายการบินต่างๆ จากตะวันออกกลางยังคงทำการบินเหนือน่านฟ้ารัสเซียได้อยู่
ทั้งนี้ นโยบายปิดน่านฟ้าที่ดำเนินอยู่นี้กำลังจะส่งผลให้ค่าขนส่งสินค้าทางอากาศที่สูงขึ้นอยู่แล้วเนื่องจากสายการบินต่างๆ ขาดรายได้จากผู้โดยสารเที่ยวบินที่หดหายไปในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยิ่งพุ่งสูงไปอีก
ข้อมูลจาก สมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า อัตราค่าขนส่งสินค้าทางอากาศเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาสูงกว่าในช่วงเดือนเดียวกันของปี ค.ศ. 2019 ถึง 150% ซึ่งเป็นภาระที่หนักขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลกที่เผชิญแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอยู่
นอกจากประเด็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว มาตรการลงโทษรัสเซียนี้ยังน่าจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกด้วย โดย เฟรเดริค ฮอร์สท จาก คาร์โก แฟคท์ส คอนซัลติง ยกตัวอย่างว่า แอร์บริดจ์คาร์โก (AirBridgeCargo) ของรัสเซียเพียงรายเดียวก็เป็นผู้รับผิดชอบขนส่งสินค้าทั่วโลกถึงราว 4% อยู่แล้ว
IATA เปิดเผยว่า ความต้องการการขนส่งสินค้าทางอากาศในปีที่แล้วสูงกว่าเมื่อปี ค.ศ. 2019 หรือก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ถึง 6.9% อันเป็นผลมาจากความนิยมในธุรกิจอีคอมเมิร์สที่พุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ผนวกกับการขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าทางเรือ และปัญหาตามท่าเรือต่างๆ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ประเมินว่า เส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างอเมริกาเหนือและเอเชียนั้นจะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการลงโทษรัสเซียมากเท่ากับเส้นทางในยุโรป
- ที่มา: รอยเตอร์