Your browser doesn’t support HTML5
การประชุมขององค์กรอนุรักษ์การค้าสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES เริ่มต้นแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญที่ที่ประชุมจะต้องตัดสินคือ ควรจะอนุญาตให้ขายงาช้างที่ถูกจับยึดมาเพราะเป็นงาช้างผิดกฎหมายหรือไม่
เมือเร็วๆ นี้ เคนยาเผางาช้าง 105 ตัน และนอแรด 1.35 ตัน เพื่อแสดงว่างาช้างไม่มีค่าแก่ผู้ใดนอกจากช้างเท่านั้น
ประธานาธิบดี Uhuru Kenyatta ของเคนยา ได้ให้คำมั่นไว้ด้วยว่า เคนยาจะสนับสนุนมาตรการห้ามค้างาช้างทั้งหมดในการประชุมของ CITES ครั้งนี้
รัฐมนตรี Judy Wakhungu ของกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ ของเคนยา อธิบายด้วยว่า ปรัชญาของเคนยาในการเผางาช้างที่มีทั้งหมดนั้น เป็นวิธีหนึ่งที่แสดงต่อโลกว่า ถ้ายอมให้มีการค้างาช้าง จะเป็นการสร้างความเข้าใจผิดว่ามีงาช้างให้ซื้อหาได้ ซึ่งปัญหาอยู่ตรงที่ว่างาช้างนี้จะทำให้ช้างสูญพันธุ์ได้
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีช้างถูกฆ่าเอางานับหมื่นตัว เพื่อสนองความต้องการของตลาดในเอเชีย ผลการสำรวจช้างในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2007-2014 แสดงให้เห็นว่า จำนวนช้างในบริเวณทุ่งหญ้าสะวันน่าในแอฟริกาลดลงราวๆ 30%
มี 30 ประเทศในแอฟริกา รวมทั้งเคนยา ที่ต้องการห้ามค้างาช้างทั่วโลก แต่นามิเบียและซิมบั๊บเว่ ได้ทำคำร้องผ่าน CITES ขอสิทธิ์ที่จะขายงาช้างในสต็อคของตน โดยให้เหตุผลว่า จะเอาเงินที่ได้ไปใช้ในการอนุรักษ์
ส่วนแอฟริกาใต้ให้ความเห็นว่า การทำลายงาช้าง ทำให้มีงาช้างน้อยลง ผลักดันให้ราคาในตลาดมืดสูงขึ้น นำไปสู่การฆ่าช้างเอางามากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม เคนยาโต้ว่าได้เคยอนุญาตให้ขายงาช้างได้ครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างที่พูดไว้ รวมทั้งยังทำให้มีการฆ่าช้างเอางาในบางประเทศเพิ่มขึ้นด้วย
Philip Muruthi รองประธานฝ่ายอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ของมูลนิธิชีวิตสัตว์ป่าในแอฟริกา เห็นด้วยกับจุดยืนของเคนยา และว่าเป็นการยากที่จะแยกงาช้างถูกกฎหมายจากที่ผิดกฎหมาย
และว่าการมีอุปทานงาช้างถูกกฎหมายในตลาด ทำให้มีการฆ่าช้างเอางาตลอดกาล โดยผลประโยชน์ตกอยู่กับคนไม่กี่คน อีกทั้งยังกีดขวางการทำมาหากินของชุมชน และทำให้ประชาชนตกอยู่ในความทุกข์ยากต่อไปด้วย