ตรวจสอบข่าว: จีนพุ่งเป้าวิจารณ์การประท้วงของนักศึกษาหนุนปาเลสไตน์ หวังสร้างภาพลบให้สหรัฐฯ จริงหรือไม่

  • VOA

ตำรวจเดินหน้าเข้าจัดการกับผู้ชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส UCLA เมื่อ 2 พฤษภาคม 2567 (AP Photo/Ethan Swope)

จีนใช้อำนาจการควบคุมสื่อและสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อทำให้เหมือนตนเองนั้นยืนอยู่ข้างผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ โดยไม่ได้พูดถึงหรือแม้แต่บิดเบือนความจริงเพื่อให้กรุงปักกิ่งดูเป็นผู้ที่มีความแข็งขันในการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนมากกว่าสหรัฐฯ เสียอีก

หนังสือพิมพ์ ไชน่า เดลี (China Daily) ของรัฐบาลจีนตีพิมพ์บทความบรรณาธิการเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับการประท้วงของนักศึกษาทั่วสหรัฐฯ โดยมีหัวข่าวว่า “ชาวสหรัฐฯ รู้ดีว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นอยู่” และบทความนี้ก็ออกมาในช่วงเดียวกับที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กำลังเยือนจีนอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 3 วัน

บทความนี้มีเนื้อหาที่แย้งว่า การชุมนุมของนักศึกษานั้นเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่ชั่วร้ายของนโยบายสหรัฐฯ เกี่ยวกับอิสราเอล และการ “ขาดการเชื่อมต่อ” ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำของสหรัฐฯ และชาวอเมริกันทั่ว ๆ ไป

ภาพของบทความจากสื่อ ไชน่า เดลี ที่ออกมาปกป้องการประท้วงของนักศึกษาในสหรัฐฯ และวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลกรุงวอชิงตัน (สื่อ ไชน่า เดลี)

นอกจากจะสร้างภาพว่า สหรัฐฯ เป็นพวกนักฉวยโอกาสแล้ว บทความของ ไชน่า เดลี ยังพยายามเปรียบเทียบนโยบายเกี่ยวกับอิสราเอลและกาซ่าที่มีปัญหาอยู่ กับนโยบายด้านยูเครน ทั้งยังอธิบายว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่า มีการตอบโต้ “อันเมินเฉย” ต่อการประท้วงของเหล่านักศึกษา

ในความเป็นจริง ทำเนียบขาวเองก็ตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์จากขั้วการเมืองทั้งสองฝั่ง ซึ่งก็คือ ฝั่งที่ต้องการให้มีการตอบโต้ที่ดุดันขึ้นต่อการต่อต้านชาวยิวและความรุนแรงในพื้นที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และฝั่งที่ต้องการให้มีการสนับสนุนมากขึ้นสำหรับผู้ประท้วงและนักศึกษาที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์นี้

ปธน.ไบเดน กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วว่า “สิทธิของการประท้วงนั้นยังมีอยู่ แต่ก็ไม่มีสิทธิที่จะก่อความวุ่นวาย” และว่า “ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา มีสิทธิที่จะได้รับปริญญา มีสิทธิที่จะเดินข้ามพื้นที่วิทยาเขต(ของสถาบันการศึกษา)อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องกลัวว่า จะโดนทำร้าย”

ไบเดนยังปฏิเสธเสียงเรียกร้องให้ส่งกองกำลังสำรองของรัฐออกมาดูแลสถานการณ์ โดยกล่าวว่า ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและตำรวจท้องถิ่นต้องทำการต่าง ๆ ให้มั่นใจว่า สถานการณ์ “ยังคงอยู่ในความมีระเบียบเรียบร้อยต่อไป

แต่ที่จีน รายงานข่าวการชุมนุมของนักศึกษาในสหรัฐฯ กลับออกมาเน้นเรื่องของการจับกุมผู้ประท้วงและการที่รัฐบาลอเมริกันปราบปรามเสรีภาพของการแสดงออก โดยไม่ได้พูดถึงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องของการกระทำที่อาจเป็นการต่อต้านชาวยิวและการทำลายสร้างความเสียหายของทรัพย์สินระหว่างเกิดการประท้วงภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเลย

สื่อ ไชน่า เดลี เคยตีพิมพ์บทความบรรณาธิการบทหนึ่งเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2023 ที่ประกาศว่า สหรัฐฯ นั้นยืน “อยู่ในด้านที่ผิดของประวัติศาสตร์กาซ่าแล้ว”

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ด้านการโฆษณาชวนเชื่อของกรุงปักกิ่งยังได้ออกมาโปรโมทกระแสความรู้สึกสนับสนุนปาเลสไตน์ทางแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์จีนที่มีการเซนเซอร์อย่างเข้มงวด และเผยแพร่ภาพของการประท้วงของนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อทำลายชื่อเสียงของสหรัฐฯ

ยังมีการตีพิมพ์ภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะปราบปรามผู้ประท้วงที่เป็นนักศึกษาควบคู่บทความบรรณาธิการหลายชิ้นจากสื่อที่รัฐบาลจีนหนุนหลังอยู่ที่เรียกการชุมนุมที่เกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯ ว่า เป็น “การก่อกบฏ” และเป็นการแบ่งเส้นระหว่าง “ฝ่ายธรรมะ” (ผู้สนับสนุนปาเลสไตน์) และ “ฝ่ายอธรรม” (สหรัฐฯ)

ภาพของโพสต์ของผู้ใช้งาน X ชาวจีนที่ขึ้นรูปของการจับกุมนักศึกษาในสหรัฐฯ และเปรียบเทียบเรื่องนี้ว่าเป็น "การปฏิวัติ" ต่อต้านรัฐบาล (แพลตฟอร์มเอ็กซ์)

และอย่างที่ วีโอเอ เคยรายงานเมื่อก่อนหน้านี้ สตูดิโอ จุน เจิ้งผิง ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านการสื่อสารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ได้ตีพิมพ์บทความแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม เว่ยโป๋ (Weibo) ที่ตั้งคำถามว่า “การใช้วิธีการความรุนแรงอย่างไม่ลืมหูลืมตาเพื่อปราบนักศึกษาจะสามารถทำให้อารมณ์ความไม่พอใจรัฐบาลสงบลงได้หรือไม่”

โพสต์ดังกล่าวยังระบุด้วยว่า “หากนักการเมืองอเมริกันมีสำนึกของระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจริง พวกเขาควรหยุดสนับสนุนอิสราเอล หยุดรับรองการกระทำของอิสราเอล และลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่สันติภาพโลกให้มากขึ้น มิฉะนั้น คนเดียวที่จะต้องรับมือกับแรงสะท้อนกลับก็คือตัวสหรัฐฯ เอง”

วีโอเอ ยังตรวจสอบพบด้วยว่า สื่อ เดอะพีเพิลส์ เดลี (The People’s Daily) ของจีน โพสต์วิดีโอเมื่อปลายเดือนเมษายน ที่มีเนื้อหาว่า นักศึกษาชาวอเมริกันร่วมชุมนุมประท้วงเพราะพวกเขา “ไม่สามารถทนต่อการมีสองมาตรฐานของสหรัฐฯ ได้”

เช่นเดียวกัน สื่อ CGTN ของจีนได้ผลิตรายงานวิดีโอเกี่ยวกับสถานการณ์การประท้วงออกมา โดยมีชิ้นหนึ่งที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมและมีชื่อเรื่องว่า “ผู้เชี่ยวชาญชี้ การปราบปรามการประท้วงของนักศึกษาเผยให้เห็นถึงธาตุแท้ของการเมือง(สหรัฐฯ)” โดยวิดีโอชิ้นนี้มีศาสตราจารย์ชาวอเมริกันรายหนึ่งให้ความเห็นว่า สหรัฐฯ นั้นก็เป็น “จักรวรรดิ” หนึ่งเหมือนกันและย้ำว่า “ตัวสถาบันเองก็ไม่เคยฟังเสียงการประท้วงหรือการปฏิรูปเลย”

คลิปวีดีโอที่สื่อ CGTN โพสต์ไว้ มีศาสตราจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยทาวสัน ที่กล่าวหาสหรัฐฯ ว่า มีพฤติกรรมของจักรวรรดิ (CGTN)

หู ซีจิน อดีตบรรณาธิการใหญ่ของ โกลบอล ไทมส์ (Global Times) และนักวิเคราะห์ข่าว เป็นอีกผู้หนึ่งที่ออกมาโพสต์เรื่องการประท้วงของนักศึกษาในสหรัฐฯ ทางแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) อยู่บ่อย ๆ และโพสต์ชิ้นหนึ่งที่ออกมาเมื่อปลายเดือนที่แล้วก็แสดงให้เห็นภาพของการปราบปรามของตำรวจตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐฯ และขึ้นข้อความเยาะเย้ยว่า “นี่มันอิหร่าน หรือ เฮติ นะ?”

โพสต์ของ หู ซีจิน ที่โจมตีสหรัฐฯ ด้วยการเสนอภาพการชุมนุมประท้วงของนักศึกษา (แพลตฟอร์มเอ็กซ์)

หู ยังขึ้นโพสต์ที่อ้างว่าแสดงให้เห็นว่า “คนหนุ่มสาวชาวอเมริกันเปลี่ยนไปอย่างมากมายได้อย่างไร” ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่เป็นเท็จและไม่ได้พูดถึงการประท้วงของเหล่านักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นมานานตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนามเลย

โพสต์ของ หู ซีจิน ที่เปรียบเทียบการประท้วงในสหรัฐฯ ว่าเป็น "การปฏิวัติ" (แพลตฟอร์มเอ็กซ์)

นี่เป็นอีกครั้งที่จีนพยายามนำเสนอภาพลักษณ์ตนเองว่าอยู่ข้างเดียวกับผู้ประท้วง พร้อม ๆ กับสร้างภาพให้สหรัฐฯ เป็นพวกมือถือสากปากถือศีลและไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชน แม้ว่า จีนเองก็มีปัญหาเรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อประชากรชาวอุยกูร์หรือประชาชนในฮ่องกงก็ตาม

อีกวิธีที่จีนใช้ในการควบคุมเนื้อหาการเสนอข่าวของสื่อในประเทศก็คือ การพยายามส่งเสริมกระแสความรู้สึกสนับสนุนปาเลสไตน์และต่อต้านอิสราเอล พร้อม ๆ กับการเปิดทางให้มีการนำเสนอคำพูดและความคิดเห็นต่อต้านชาวยิวเพิ่มมากขึ้นตามแพลตฟอร์มสื่อและสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ด้วย

หนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ (The New York Times) พบโพสต์ทางเว่ยโป๋ชิ้นหนึ่งของอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตาม 2.9 ล้านคน ซึ่งมีเนื้อหาว่า ผู้โพสต์เนื้อหานี้เลือกจะเรียกกลุ่มฮามาสว่าเป็น “องค์การต่อต้าน” แห่งหนึ่ง และเรียกอิสราเอลว่า เป็น “องค์การก่อการร้าย” แทนด้วย

การติดตามตรวจสอบของ วีโอเอ ยังพบว่า สื่อรัฐบาลจีนทั้งหลายพยายามผลักดันทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับ “พลังอำนาจ” และ “ความมั่งคั่ง” ของชาวยิว ทางสื่อสังคมออนไลน์จีนด้วย ยกตัวอย่างเช่น สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลจีนแห่งหนึ่งที่เปิดเพจแสดงความคิดเห็นทางเว่ยโป๋ที่กล่าวอ้างด้วยความเท็จว่า ชาวยิวนั้นควบคุมความมั่งคั่งของสหรัฐฯ “อย่างไม่สมสัดส่วน” โดยเพจนี้ได้กลายมาเป็นพื้นที่ที่มีการโพสต์ความเห็นที่แอบซ่อนความคิดทัศนคติเหมารวมเกี่ยวกับการต่อต้านชาวยิวไว้มากมาย รวมทั้งความเห็นที่ทำให้ประเด็นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงด้วย ตามรายงานของเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์

จีนยังปฏิเสธรายงานของสื่อตะวันตกที่ว่า มีการเพิ่มขึ้นของกระแสต่อต้านชาวยิวในจีนโดยมีรัฐบาลสนับสนุนอยู่ ขณะที่ แอนดี บอเรแอม อินฟลูเอนเซอร์ที่สนับสนุนจีน ตอบโต้รายงานของซีเอ็นเอ็นฉบับหนึ่งโดยใช้กลยุทธ์ข้อมูลบิดเบือนเดิม ๆ ซึ่งก็คือ การบิดเบือนและการเบี่ยงเบน (distortion and deflection) โดยในความเห็นที่เผยแพร่ผ่านคลิปวิดีโอของบอเรแฮม อินฟลูเอนเซอร์รายนี้หยิบยกคำพูดที่บอกว่าเป็นของซีเอ็นเอ็น แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ที่ว่า “ประชาชนชาวจีนมีเสรีภาพในการแสดงออกมากเกินไป” ก่อนจะพยายามเบี่ยงประเด็นมาเป็นเรื่องของ “ความเกลียดชังชาวเอเชียในสหรัฐฯ” แทน

ภาพข่าวการวิเคราะห์ข่าวของ แอนดี บอเรแฮม ต่อรายงานของสถานีข่าวซีเอ็นเอ็น (ยูทูบ)

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ