ที่การแถลงข่าวประจำวันของกระทรวงการต่างประเทศจีนเมื่อวันที่ 3 เมษายน หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นความตึงเครียดที่ยกระดับสูงขึ้นระหว่างฟิลิปปินส์และจีนว่า:
“ฟิลิปปินส์เอาแต่กล่าวหาจีนว่า 'ทำการข่มขู่ประเทศเล็ก ๆ' โดยไม่ได้พูดถึงการที่ฟิลิปปินส์ครอบครองและบุกรุก 'หนันชา ฉุนเต๋า' ของจีน และนั่นก็คือ 'กับดัก' โฆษณาชวนเชื่อของจริง ... ประเด็น 'เหรินอ้าย เจียว' ก็ไม่ใช่กรณีที่(ประเทศใหญ่)บูลลี่(ประเทศเล็ก) แต่เป็นเรื่องของคำสัญญาที่ทำไม่ได้จริงและการจงใจยั่วยุ…”
'หนันชา ฉุนเต๋า' นั้นคือชื่อภาษาจีนของหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) ขณะที่ 'เหรินอ้าย เจียว' คือชื่อภาษาจีนของสันดอนเซคันด์ โธมัส (Second Thomas Shoal)
ความเห็นของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนมีออกมา ขณะที่ ภาวะขัดแย้งระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ยกระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หวัง กล่าวด้วยว่า “ฟิลิปปินส์เดินหน้าหาประโยชน์ให้ตนเองอย่างเห็นแก่ตัว โดยอ้างฉันทามติของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค นี่คือเหตุผลหลักว่าทำไมสถานการณ์ในทะเลจีนใต้จึงยกระดับและมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเช่นนี้”
นี่คือความเท็จ
ประการแรก ควรจะต้องมีการพูดถึงกรณีที่ยามชายฝั่งฟิลิปปินส์และสื่ออิสระต่าง ๆ บันทึกไว้เกี่ยวกับกิจกรรม “โซนสีเทา” ของจีนและท่าทีเชิงรุกรานต่าง ๆ ของจีนต่อเรือฟิลิปปินส์ เช่น กรณีของเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ เจย์ ทาร์ริเอลา โฆษกยามชายฝั่งฟิลิปปินส์ รายงานว่า เรือยามชายฝั่งจีนใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงยิงขู่เรือประมงฟิลิปปินส์ 2 ลำ และจีนยังใช้ยุทธวิธีเข้าชนและปะทะ การสร้างสิ่งกีดขวางใต้น้ำ และการใช้เลเซอร์มาตรฐานกองทัพเพื่อหยุดยั้งการเติมเสบียงและภารกิจลาดตระเวนของฟิลิปปินส์
นอกจากนั้น ยังไม่เคยมี “คำสัญญา” อย่างเป็นทางการระหว่างฟิลิปปินส์และจีนกันเลย โดยสิ่งที่จีนพูดถึงนั้นคือ การอ้างถึงข้อตกลงสุภาพบุรุษที่เชื่อว่าเกิดขึ้นระหว่างจีนและอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตรเต
ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ชี้ว่า ตนไม่เคยรู้มาก่อนว่า มีข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะไม่เคยมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และผู้นำฟิลิปปินส์คนปัจจุบันก็ยอมรับว่า “แค่คิดก็รู้สึกกลัวแล้ว”
ปธน.มาร์กอส จูเนียร์ ออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาว่า “อย่าเพิ่งตกหลุมพรางกับดักที่ฝ่ายสร้างโฆษณาชวนเชื่อจีนพยายามถูดถึงสัญญาที่ว่า ขณะที่ พยายามดึงความสนใจให้ออกห่างจากตัวรัฐบาลจีน ซึ่งนั่นจะหมายถึงการเปิดทางให้(ทางการ)จีนมีอิสระในการเดินหน้าทำกิจกรรมอันผิดกฎหมายต่าง ๆ ของตนต่อไปได้”
ข้อตกลงที่ว่าถูกกึ่งยืนยันโดย แฮร์รี โรเก อดีตโฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ขณะที่ อดีตปธน.ดูเตรเต ก็ออกมาให้ความกระจ่างด้วยตนเองเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อจะช่วยรักษา “สถานภาพที่เป็นอยู่” (status quo) ในทะเลจีนใต้ แต่ไม่ได้จะจำกัดอธิปไตยของฟิลิปปินส์แต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน อดีตโฆษกฯ โรเก ให้คำอธิบายคล้าย ๆ กันว่า “สถานภาพที่เป็นอยู่” นั้นไม่ได้หมายความว่า ฟิลิปปินส์จะยอมยกเลิกคำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ทางดินแดนต่าง ๆ เช่น พื้นที่สันดอนเซคันด์ โธมัส เลย
ทั้งนี้ พื้นที่สันดอนดังกล่าวเป็นจุดพิพาทระหว่างสองประเทศมานานแล้ว และในปี 1999 ฟิลิปปินส์ได้จงใจนำเรือ BRP Sierra Madre ที่ปลดระวางแล้วไปจอดไว้ที่บริเวณที่ว่า เพื่อยืนยันว่า ฟิลิปปินส์คือเจ้าของสันดอนนี้ ขณะที่ เจ้าหน้าที่ทหารฟิลิปปินส์ก็ใช้ชีวิตอยู่บนเรือดังกล่าวมาโดยตลอดจนถึงวันนี้ และกรณีการนำส่งเสบียงให้เหล่าทหารกลุ่มนี้ก็คือจุดที่ทำให้ภาวะความขัดแย้งยกระดับขึ้น เพราะจีนทำการปิดกั้นการขนส่งต่าง ๆ
จุดที่สำคัญที่สุดคือ คำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของจีนนั้นไม่ได้ถูกยอมรับในระดับสากลหรือโดยประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเลย
การกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในอาณาเขตของจีนตามเส้นประ 9 เส้นที่กรุงปักกิ่งสร้างขึ้นเองนั้นครอบคลุมราว 90% ของทะเลจีนใต้ ทั้งยั้งล่วงล้ำคำกล่าวอ้างอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น คำกล่าวของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยังแสดงให้เห็นถึงการเพิกเฉยต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้งด้วย โดยในปี 2016 นั้น ฟิลิปปินส์ได้ยื่นเรื่องต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร หรือ PCS (Permanent Court of Arbitration) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เกี่ยวกับการที่จีนกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์พื้นที่ในทะเลจีนใต้โดยไม่มีมูลฐานทางกฎหมายประกอบ ก่อนที่จะมีการตัดสินออกมาว่า สันดอนเซคันด์ โธมัส ตั้งอยู่ภายในพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์
แต่จีนก็ยังไม่สนใจคำพิพากษานี้
การตรวจสอบพบว่า คำกล่าวอ้างของจีนที่ว่า ฟิลิปปินส์คือผู้ที่ทำให้ภาวะตึงเครียดยกระดับขึ้นมาด้วยการดึงผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องก็เป็นความเท็จเช่นกัน เพราะฟิลิปปินส์เริ่มมาใกล้ชิดกับสหรัฐฯ หลังจีนดำเนินการทำกิจกรรม “โซนสีเทา” ในทะเลจีนใต้เพิ่มขึ้นแล้ว
สหรัฐฯ นั้นก็พยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาหารือกับจีนเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างเช่น เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้โทรศัพท์คุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีน เพื่อแสดงความกังวลต่อประเด็นความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น และรายงานข่าวระบุว่า สองผู้นำยังหารือกรณีการเดินทางจีนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ด้วย
แต่แม้จะมีการพูดคุยกันของสองผู้นำแล้ว จีนก็ยังส่งกองทัพปลดปล่อยประชาชน (People’s Liberation Army – PLA) ออกลาดตระเวนทะเลจีนใต้ในวันเดียวกับที่ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรเลียทำการซ้อมรบทางทะเลร่วมกันอยู่
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียพยายามหาประโยชน์จากสถานการณ์นี้ ด้วยการออกมากล่าวอ้างอย่างผิด ๆ ว่า ข้อพิพาทในปัจจุบันนั้นเป็นความผิดจากการที่ชาติตะวันตกพยายาม “ขยายอำนาจ” ต่างหาก
สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ได้ลงนามในข้อตกลงทางทหารร่วมกันตั้งแต่เมื่อปี 1951 ดังนั้น การร่วมซ้อมรบกันดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงเป็นเพียงการยืนยันการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ว่าเท่านั้นเอง
เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ปธน.ไบเดน เพิ่งออกปากยืนยันการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อฟิลิปปินส์ โดยระบุว่า “การโจมตีใด ๆ เข้าใส่เครื่องบิน เรือ หรือกองทัพติดอาวุธของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้จะเท่ากับเป็นทำให้มีการนำสนธิสัญญาทางทหารทหารระหว่างทั้งสองขึ้นมาใช้งาน”
ความพยายามของจีนและรัสเซียที่จะกล่าวโทษชาติตะวันตกนั้นก็พลาดตรงจุดที่ว่า ไม่ได้มีการตระหนักถึงสิทธิ์ของประเทศอื่น ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ในการมีนโยบายต่างประเทศและนโยบายด้านความมั่นคงของตนเอง และในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการเป็นพันธมิตรกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งรวมถึง สหรัฐอเมริกา ด้วย
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ