อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี คืออะไร? ทำไมจึงสำคัญต่อภูมิศาสตร์การเมืองโลก?

แฟ้มภาพ - ทหารรัสเซียติดตั้งขีปนาวุธใส่เครื่องยิงจรวดเคลื่อนที่ระหว่างการซ้อมรบ ณ สถานที่ที่ไม่มีการเปิดเผย เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2024 (ภาพจากเอพี)

กระทรวงกลาโหมรัสเซียกล่าวในวันจันทร์ว่า กองทัพจะจัดการซ้อมรบโดยมี "อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี" เข้าร่วมด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศซ้อมรบลักษณะนี้ให้สาธารณชนรับรู้

วีโอเอภาคภาษาไทย พาไปทำความรู้จักกับ "อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี" หรือ tactical nuclear weapons และความสำคัญต่อภูมิศาสตร์การเมืองโลก

อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี คืออะไร?

อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี (tactical nuclear weapons) มีอำนาจการทำลายล้างน้อยกว่าขีปนาวุธวิถีโค้งข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ที่สามารถทำลายเมืองทั้งเมือง โดยมักถูกใช้ในการโจมตีทหารฝ่ายศัตรูในสนามรบ

ปกติแล้ว อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีมีความรุนแรงราว 1 กิโลตัน น้อยกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ โจมตีใส่เมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองราว 15 เท่า

อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีมักบรรจุในหัวรบขนาดเล็ก เช่น ในจรวดติดเครื่องบินรบ กระสุนปืนใหญ่หรือขีปนาวุธพิสัยใกล้ ซึ่งขนาดที่กะทัดรัดนี้ช่วยให้สามารถติดตั้งบนยานพาหนะหรืออากาศยานต่าง ๆ ได้

ความแตกต่างสำคัญอีกประการหนึ่งคือ อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีนี้มิได้ถูกจำกัดภายใต้สนธิสัญญาควบคุมอาวุธที่สหรัฐฯ และรัสเซียได้จัดทำไว้ ไม่เหมือนกับนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ หรือ strategic nuclear weapons ที่ถูกจำกัดตามสนธิสัญญาดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงไม่เคยเปิดเผยข้อมูลหรือจำนวนของอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีที่มีอยู่ในคลังอาวุธของรัฐบาลกรุงมอสโก

แฟ้มภาพ - ทหารรัสเซียติดตั้งขีปนาวุธใส่เครื่องยิงจรวดเคลื่อนที่ (ภาพจากรอยเตอร์)

บทบาทของอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีในสงครามรัสเซีย-ยูเครน คืออะไร?

นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มการรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ย้ำเตือนชาติตะวันตกหลายครั้งถึงแสนยานุภาพด้านนิวเคลียร์ของรัสเซีย จุดประสงค์เพื่อทำให้ผู้นำชาติตะวันตกลดการสนับสนุนทางทหารต่อยูเครน

ในช่วงเริ่มต้นสงคราม ปูตินมักกล่าวว่าจะใช้ "ทุกวิถีทาง" ในการป้องกันรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์หากจำเป็น แต่ต่อมาปูตินได้เริ่มลดระดับการคุกคามด้วยนิวเคลียร์ลงเมื่อยูเครนประสบความล้มเหลวในการแย่งชิงดินแดนคืนจากรัสเซีย ขณะที่กองทัพรัสเซียก็ได้รับชัยชนะในสมรภูมิต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

เมื่อปลายปีที่แล้ว ปธน.ปูติน กล่าวว่า "ขณะนี้ยังไม่มีสถานการณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามีสิ่งใดคุกคามความเป็นรัฐของรัสเซีย และไม่คิดว่าจะมีใครที่สติครบถ้วนและความทรงจำแจ่มชัดที่ต้องการใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีรัสเซีย"

แฟ้มภาพ - กองทัพรัสเซียซ้อมรบร่วมกับกองทัพเบลารุส เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2022 (ภาพจากเอพี)

ทำไมรัสเซียจึงส่งอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีไปเบลารุส ?

เมื่อปีที่แล้ว รัสเซียเคลื่อนกำลังอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีบางส่วนไปประจำการในเบลารุสซึ่งมีพรมแดนติดกับยูเครนและชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ อย่าง โปแลนด์ แลตเวีย และลิทัวเนีย

รัสเซียใช้เบลารุสเป็นฐานที่มั่นทางทหารระหว่างการทำสงครามในยูเครน ซึ่งประธานาธิบดีอเลกซานเดอร์ ลูกาเชนโก แห่งเบลารุส มีความสัมพันธ์ทางทหารใกล้ชิดกับรัสเซีย และเป็นผู้ขอให้รัสเซียนำอาวุธนิวเคลียร์มาประจำการในประเทศตนเอง

ประธานาธิบดีอเลกซานเดอร์ ลูกาเชนโก แห่งเบลารุส

ทั้งปูตินและลูกาเชนโกต่างระบุว่า การนำนิวเคลียร์ไปประจำการที่เบลารุสนั้นคือการตอบโต้ภัยคุกคามจากชาติตะะวันตก ซึ่งรวมถึงการที่อังกฤษตัดสินใจจัดหาปืนใหญ่เจาะเกราะบรรจุแร่ยุเรเนียมให้แก่ยูเครน

อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีที่รัสเซียติดตั้งในเบลารุสนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย และมีการฝึกฝนทหารและนักบินของกองทัพเบลารุสให้สามารถใช้อาวุธเหล่านั้นได้ ซึ่งทำให้รัสเซียมีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการโจมตีดินแดนทางภาคเหนือของยูเครนซึ่งมีพรมแดนติดกับเบลารุสเป็นระยะทาง 1,084 กม. และยังสามารถคุกคามชาติสมาชิกของนาโต้ในฝั่งยุโรปตะวันออกและยุโรปตอนกลางได้อีกทางหนึ่งด้วย

  • ที่มา: เอพี