'มิน อ่อง หล่าย' เจอแรงกดดันลงจากตำแหน่ง หลังเสียการครอบครอง 35 หมู่บ้าน

MYANMAR-POLITICS/

เมื่อเดือนมกราคม พระสงฆ์เมียนมารูปหนึ่งที่สนับสนุนกองทัพ ได้ออกมาเรียกร้องให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ลงจากตำแหน่งทันที ซึ่งได้รับเสียงเชียร์จากประชาชนจำนวนมาก ในขณะที่บรรดาผู้สื่อข่าวและบล็อกเกอร์สายทหาร ต่างออกมาประสานเสียงในลักษณะเดียวกัน

ปัจจุบัน พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ตกอยู่ในจุดที่เปราะบางที่สุดนับตั้งแต่ก่อนรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลพลเรือนของออง ซาน ซู จี เมื่อสามปีที่แล้ว และหากย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว ภาพการกดดันให้ผู้นำรัฐบาลทหารผู้นี้สละตำแหน่ง เป็นเรื่องที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน

ความพ่ายแพ้ในสนามรบ

ความสงสัยถึงศักยภาพความเป็นผู้นำของพลเอกมิน อ่อง หล่าย เริ่มดังขึ้นเมื่อกองทัพเมียนมาพ่ายแพ้หลายครั้งในการต่อสู้กับกองกำลังแข็งข้อต่อต้านในหลายพื้นที่ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ หลังจากที่กลุ่มแข็งข้อได้เริ่มปฏืบัติการที่เรียกว่า Operation 1027 เมื่อเดือนตุลาคม

คาดว่าจนถึงขณะนี้ รัฐบาลทหารเมียนมาได้สูญเสียการครอบครองหมู่บ้านให้แก่กลุ่มแข็งข้อต่อต้านไปแล้วอย่างน้อย 35 แห่ง อ้างอิงจากข้อมูลของ Myanmar Peace Monitor แต่ทางรัฐบาลทหารยังมิได้ยืนยันถึงการพ่ายแพ้ในสนามรบอย่างเฉพาะเจาะจง แม้ได้เคยยอมรับว่าสูญเสียพื้นที่บางส่วนไปแล้วก็ตาม

Your browser doesn’t support HTML5

กลุ่มติดอาวุธเมียนมาประกาศยึดเมืองชายแดนอินเดีย-บังกลาเทศ

เมื่อวันพุธ หนึ่งวันก่อนวันครบรอบ 3 ปีการก่อรัฐประหาร พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ประกาศขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน เพื่อให้ทหารได้ปฏิบัติภารกิจเพื่อ "นำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติของสันติภาพและความมั่นคง"

นักการทูตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้หนึ่งกล่าวกับรอยเตอร์โดยไม่ขอเปิดเผยชื่อว่า "เกิดความไม่พอใจอย่างยิ่งในกองทัพ ซึ่งลามไปถึงตัวพลเอกมิน อ่อง หล่าย ด้วย" และว่า "บางคนต้องการให้เขาลงจากตำแหน่ง"

ทางโฆษกของรัฐบาลทหารมิได้ตอบกลับคำขอแสดงความเห็นจากทางรอยเตอร์

ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ ที่ปรึกษาระดับสูงด้านเมียนมาขององค์กร Crisis Group ให้ความเห็นว่า "กลุ่มชาตินิยมและบรรดาผู้สนับสนุนกองทัพมองว่า ผลลัพธ์ที่ย่ำแย่ในสนามรบเป็นเรื่องน่าอาย และได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นผู้นำของพลเอกมิน อ่อง หล่าย อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"

สก็อต มาร์เชียล อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำเมียนมา กล่าวว่า "กองทัพกำลังถูกกดดันจากหลายทิศทาง ทั้งจากการสูญเสียพื้นที่และการครอบครองหมู่บ้านหลายแห่ง รวมถึงขวัญกำลังใจที่ลดลง และความไร้ประสิทธิภาพของผู้นำ" และว่า "ขณะนี้ (กลุ่มแข็งข้อต่อต้าน) มีโอกาสอย่างยิ่งที่จะชนะกองทัพเมียนมาได้ อย่างน้อยก็ในส่วนของการกดดันให้กองทัพยอมสละอำนาจทางการเมือง" "แต่ก็เป็นเรื่องยากที่คาดการณ์ได้ว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใด"

Your browser doesn’t support HTML5

จับตา ลาว นั่งประธานอาเซียน ปม 'เมียนมา-ทะเลจีนใต้' ยังท้าทาย

ปัญหารุมเร้ารอบด้าน

ขณะนี้ เมียนมากำลังเผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งการสู้รบระหว่างกองทัพกับกองกำลังผสมของกลุ่มชาติพันธุ์สามกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า พันธมิตรสามภราดร (Three Brotherhood Alliance) ประกอบด้วยกองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance Army - MNDAA) กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta'ang National Liberation Army - TNLA)

ในด้านเศรษฐกิจ เมียนมาเจอกับปัญหาการลงทุนจากต่างชาติหดหายไป ประกอบกับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก นอกจากนี้ยังประสบภาวะเงินเฟ้อในระดับสุูง ขาดแคลนเชื้อเพลิง ไฟฟ้าดับต่อเนื่อง ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกระดับ

ในวันพุธ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา หรือ National Unity Government (NUG) ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐบาลเงา และพันธมิตรสามภราดร มีแถลงการณ์ว่า กลุ่มตนเปิดกว้างสำหรับการเจรจากับกองทัพโดยมีเงื่อนไข 6 ประการ ซึ่งรวมถึงการนำกองทัพกลับไปอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลพลเรือน และไม่ให้ทหารมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองอีก

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุด้วยว่า NUG และกลุ่มอื่น ๆ กำลังพยายามจัดตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมาขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลทหารยังมิได้ออกมาแสดงความเห็นต่อแถลงการณ์ของ NUG แต่อย่างใด

  • ที่มา: รอยเตอร์