องค์กรสื่ออิสระในเมียนมาร่วมกันจัดตั้งสภาผู้สื่อข่าวแห่งใหม่ขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เป็นสัญญาณบวกที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของสื่อในประเทศนี้ที่สามารถลุกฟื้นขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ไม่มีการเปิดเผยสถานที่ตั้งของสภาแห่งใหม่ที่ชื่อว่า Independent Press Council Myanmar (IPCM) โดยมีการระบุเพียงว่า ตั้งอยู่ในประเทศไทยและเปิดทำการมาตั้งแต่ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมเสรีภาพของสื่อและยกระดับการปกป้องคุ้มครองผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่อยู่ในเมียนมา
นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน สภาพการทำงานของสื่อในประเทศนี้ถดถอยลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ ผู้สื่อข่าวและหน่วยงานสื่อต่าง ๆ ตกเป็นเป้าการจับกุมตามอำเภอใจโดยทางเมียนมาด้วย
ในรายงานการจัดอันดับโดย Committee to Protect Journalist ที่ตีพิมพ์ออกมาในวันพฤหัสบดี เมียนมาถูกจัดให้เป็นผู้ที่จับกุมคุมขังผู้สื่อข่าวที่เลวร้ายเกือบที่สุด (second-worst jailer) แล้ว
ทั้งนี้ IPCM ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลางจำนวน 10 คนขึ้นมาซึ่งรวมถึง ประธานที่มาจากการเลือกตั้ง เลขาธิการและเหรัญญิก โดยมีแผนจะแต่งตั้งกรรมการกลางให้ได้ 15 คนที่จะมีทั้งตัวแทนจากองค์กรสื่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ นักกฎหมายด้านสื่อ ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์และนักข่าวพลเมืองด้วย
ในการประชุมจัดตั้งสภาแห่งนี้ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 77 คน โดยมีตัวแทนสื่อเมียนมามาร่วม 38 คน
นาน พอฟว์ เกย์ บรรณาธิการใหญ่ของสื่อ Karen Information Center ได้รับเลือกเป็นประธาน IPCM โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่า ประธานคนแรกของสภาสื่อแห่งนี้กล่าวย้ำถึงความจำเป็นของการมีหน่วยงานใหม่นี้ ว่าเป็นเพราะคำกล่าวหาจากตัวแทนสื่อรัฐบาลทหารเมียนมาที่มักชี้ว่า สื่อที่ทำงานเพื่อสาธารณชนนั้นทำการเผยแพร่ข่าวเท็จ
สภา IPCM นั้นเปิดรับสมาชิกเฉพาะตัวแทนจากสื่ออิสระเท่านั้น ดังนั้น สื่อรัฐหรือสื่อที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วม
เซดริก อัลวิเอนิ ผู้อำนวยการสำนักงานเอเชียตะวันออกขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Border) บอกกับวีโอเอว่า การก่อตั้งสภาแห่งนี้ถือเป็นก้าวย่างที่ส่งสัญญาณบวกอย่างมาก โดยระบุว่า “การจัดตั้ง IPCM ซึ่งเป็นองค์กรที่มีกฎบัตรด้านจริยธรรมและการกำกับดูแลที่อิงตามระบอบประชาธิปไตย ... แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่จะพลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้งอันน่าเหลือเชื่อของผู้สื่อข่าวพม่า ท่ามกลางสภาวะการปราบปรามอันไร้ปราณีของรัฐบาลทหารต่อเสรีภาพของสื่อและต่อสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา”
ส่วน ติน ติน เนียว กรรมการผู้จัดการของ Burma News International บอกกับวีโอเอว่า IPCM คือองค์กรที่จะช่วยมอบอำนาจให้กับผู้สื่อข่าวและจะช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนข้อมูลข่าวสารอีกด้วย
นับตั้งแต่ กองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2021 สื่อต่าง ๆ ในประเทศได้ตกเป็นเป้าของทางการมาโดยตลอด และมีสื่ออย่างน้อยหลายสิบแห่งถูกถอนใบอนุญาตไปแล้ว ขณะที่ ผู้สื่อข่าวหลายร้อยคนก็ถูกจับกุมตัวไป โดยมี 43 คนที่ยังคงอยู่ในเรือนจำเมียนมาในเวลานี้
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น