เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีครึ่งแล้วหลังจากที่สมาคมอาเซียนประกาศฉันทามติ 5 ข้อ ในความพยายามหาทางออกให้กับวิกฤตเมียนมาหลังกองทัพโค่นอำนาจรัฐบาลของออง ซาน ซูจีผู้นำพลเรือน จนนำไปสู่การประท้วงและการปราบปรามอย่างรุนแรง
เวลาผ่านไปเนิ่นนานโดยไร้การปฏิบัติตามฉันทามติดังกล่าว จนทำให้เกิดคำถามตามมาว่าจุดยืนที่อยู่คู่อาเซียนเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นยังคงใช้ได้กับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 กองทัพเมียนมาปฏิวัติรัฐบาลของซูจี ต่อมาในเดือนเมษายนอาเซียนจัดทำ ฉันทามติ 5 ข้อ ที่เรียกร้องการอำนวยความสะดวกต่องานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และงานของผู้แทนพิเศษที่ได้รับแต่งตั้งจากอาเซียน ตอนจนข้อเร่งเร้าให้หยุดการใช้ความรุนแรง ไปจนถึงแนวทางรวมให้ทุกคนในภาคส่วนมีบทบาทในการแก้ไขปัญหา
เมียนมาภายใต้รัฐบาลทหารไม่ดำเนินการใด ๆ ตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน เป็นเหตุให้อาเซียนไม่เชิญเมียนมาเข้าร่วมการประชุม
และแม้ไทยแสดงความพยายามที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมา เช่น การจัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับเมียนภายใต้กรอบอาเซียน แต่ความพยายามดังกล่าวต้องเผชิญกับเสียงไม่เห็นด้วยของบางประเทศ โดยเฉพาะจาก อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนในเวลานี้
พานดู พราโยคา ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากหน่วยงาน National Research and Innovation Agency ของอินโดนีเซียกล่าวเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมว่าการที่เมียนมาไม่ทำตามฉันทามติ 5 ข้อกระทบต่อภาพลักษณ์ของอาเซียนบนเวทีโลก
นักวิเคราะห์ผู้นี้บอกด้วยว่า บรรยากาศเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่ออาเซียนที่มักสนับสนุนความเป็นกลางท่ามกลางการแข่งช่วงชิงอำนาจในส่วนต่าง ๆ ของโลก
ต่อคำถามที่ว่า เมียนมากำลังหลบอยู่ข้างหลังหลักการอาเซียนเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของต่างประเทศ หรือไม่
พานดู พราโยคากล่าวว่า แนวทางดังกล่าวไม่ควรบั่นทอนหลักการที่สำคัญด้านอื่น เช่น สิทธิมนุษยชน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เขาบอกว่า หลักการไม่แทรกแซงไม่ใช่คำตอบอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของทุกสถานการณ์ แม้ว่าจะเคยช่วยให้อาเซียนรักษาเอกภาพไว้ได้ก็ตาม
“ในกรณีของเมียนมาเราควรพิจารณาและปรับให้ (หลักการนี้) เป็นไปตามสถานการณ์” พราโยคากล่าว
จาวา โมฮามัด โรซิดิน ผู้สันทัดกรณีจากมหาวิทยาลัย Diponegoro กล่าวว่าไทยเคยพยายามเสนอให้อาเซียนปรับหลักการเรื่องการไม่แทรกแซง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
เขาจึงเสนอทางออกว่าควรมีการใช้หลักการที่เรียกว่า “Responsibility to Project” ซึ่งอนุญาตให้ประเทศ องค์กรระดับภูมิภาคและหน่วยงานภายนอกเข้าแทรกแซงเมื่อเกิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยเขาเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาคือกรณีตัวอย่างที่ควรเปิดให้มีการเข้าแทรกแซงเพื่อหยุดยั้งวิกฤตที่เกิดขึ้นกับประชาชน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ตวนกู ไฟซาซิอะห์ กล่าวว่าหลักการไม่แทรกแซงไม่ใช่หลักที่เฉพาะเจาะจงเพียงแต่อาเซียนเท่านั้น เพราะพบว่าอยู่ในกฎบัตรของสหประชาชาติเช่นกัน
เขากล่าวปิดท้ายว่าอาเซียนเปิดกว้างที่จะให้มีการหารือในปัญหาที่หลากหลายที่ประเทศสมาชิกเผชิญอยู่
- ที่มา: วีโอเอ