หลังจากที่ไทยเป็นผู้ริเริ่มให้ประเทศอาเซียนร่วมหารืออย่างไม่เป็นทางการที่พัทยาเรื่องเมียนมา รัฐบาลกรุงเนปิดอว์ออกแถลงการณ์ในวันจันทร์ที่ระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ อู ตาน สเว เป็นตัวแทนฝ่ายตนที่เดินทางมาร่วมประชุมครั้งนี้
กระทรวงต่างประเทศเมียนมาระบุว่า ตาน สเว ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมเกี่ยวกับความร่วมมือกับอาเซียนอันเรื่องการปฏิบัติตามการสร้างสันติสุข และนำประชาธิปไตยกลับมายังเมียนมา รวมถึงการดำเนินการเรื่อง ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ของอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ไม่เกิดความคืบหน้าเรื่องการสร้างสันติภาพ หลังจากที่ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564
และการเชิญเมียนมาเข้าร่วมประชุมของไทยยังถูกวิจารณ์ว่า “เร็วเกินไป” ที่จะร่วมงานกับรัฐบาลเนปิดอว์ ในเมื่อยังไม่เห็นความคืบหน้าจากฝ่ายเมียนมาต่อ ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’
แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศเมียนมาบอกรวม ๆ ว่า มีตัวแทน ระดับรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่พิเศษ เอกอัครราชทูตและผู้แทน จากประเทศบรูไน กัมพูชา ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมทั้งจีนและอินเดียเข้าร่วม
ข้อมูลดังกล่าวตรงกับข่าวของวีโอเอไทยที่อ้างอิง เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่ระบุในวันอาทิตย์ว่า การประชุมครั้งนี้จะมีผู้แทนจาก ลาว กัมพูชา เมียนมา อินเดีย จีน บรูไน เวียดนามเข้าร่วม
รอยเตอร์รายงานในวันจันทร์โดยอ้างแหล่งข่าวรายหนึ่งที่ทราบเกี่ยวกับการหารือครั้งนี้ ซึ่งระบุว่า หากนับเฉพาะตัวแทนระดับรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ ตาน สเว และรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย มีเพียงลาวประเทศเดียวที่ส่งรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมที่พัทยา
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าววีโอเอภาคภาษาเขมร กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ปรัก สุคน ส่งตัวแทนเข้าหารือครั้งนี้
สำหรับฝ่ายไทย เจ้าหน้าที่ยังคงระมัดระวังกับการให้ข่าวเรื่องนี้ โดยวีโอเอไทยติดต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศของไทยตลอดช่วง 3 วันที่ผ่านมา โดยโฆษกของกระทรวง กาญจนา ภัทรโชค รับคำถามไว้ แต่ยังไม่ได้ตอบกลับ
ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายติดตามท่าทีของอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ที. ไฟซาซิอะห์ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า "อินโดนีเซียจะไม่เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการนี้ และไม่มีแผนในเรื่องนี้”
“เท่าที่ทราบ รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียเรตโน มาร์ซูดี อยู่ที่จาการ์ตา และเรากำลังเป็นเจ้าภาพการเสด็จเยือนของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะแห่งญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้” เขากล่าวว่า
เมื่อโฆษกไฟซาซิอะห์ถูกนักข่าวถามต่อว่า อินโดนีเซียสัญญาว่าจะทำงานกับทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาเมียนมาใช่หรือไม่ เขากล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหว แม้ในบริบทการเมืองของไทยก็ตาม ดังนั้นเราจึงไม่ขอพูดเรื่องนี้ต่อ”
นอกจากนั้น รอยเตอร์พบว่า รัฐมนตรีมาร์ซูดีตอบคำเชิญของฝ่ายไทยไปว่า อาเซียนไม่มีความเห็นร่วมในการ “กลับมีปฏิสัมพันธ์อีกครั้งหรือพัฒนาแนวทางใหม่” เกี่ยวกับเมียนมา และเธอกล่าวด้วยว่า เป็นเรื่อง “สำคัญอย่างยิ่ง ที่เราต้องรักษาพลวัตที่กำลังเกิดขึ้น”
มาเลเซียและสิงคโปร์ไม่ส่งตัวแทนร่วมหารือที่พัทยาเช่นกัน
รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ วิเวียน บาลากริชนัน บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เนื่องจากยังไม่มีความคืบหน้าต่อสถานการณ์ในเมียนมา "มันเร็วเกินไปที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลทหารอีกครั้ง ในระดับการประชุมสุดยอด หรือเเม้ในระดับรัฐมนตรีก็ตาม"
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัยเคยกล่าวผ่านสื่อว่า การริเริ่มเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาอีกครั้งสะท้อนถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เมียนมากำหนดโรดแมปเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง รวมถึงปัญหาและประเด็นอื่น ๆ เช่น การค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ และค้ายาเสพติดที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
- ที่มา: เนื้อหาบางส่วนมาจากรอยเตอร์