“แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” เป็นนักชกหญิงขวัญใจชาวไทยและนักสู้หญิงแถวหน้าระดับโลก เมื่อไม่นานมานี้ แชมป์ วัน (ONE) เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ จากการต่อสู้แบบผสมผสาน รุ่นอะตอมเวต ได้มีโอกาสเดินทางมาสหรัฐฯ เป็นเวลา 10 วัน เพื่อสอนทักษะมวยไทยให้กับชาวอเมริกันเป็นครั้งแรก ติดตามได้จากรายงานพิเศษจากวีโอเอไทยตอนที่ 1
Your browser doesn’t support HTML5
ชื่อเสียง เทคนิคจากประสบการณ์จริง และความขี้เล่น เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ สัมมนามวยไทยในสหรัฐฯ ของ “แสตมป์” นักสู้หญิงจากค่าย “แฟร์เท็กซ์” ได้รับการตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ในกลุ่มชาวอเมริกันที่สนใจศิลปะมวยไทย
“แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” เป็นนักกีฬาหญิงคนแรกที่ได้แชมป์ถึง 3 ประเภท ในการแข่งขันระดับโลก โดยเธอคว้าเข็มขัด วัน (ONE) เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ จากการต่อสู้แบบผสมผสาน หรือ Mixed Martial Art (MMA) และยังเป็นอดีตแชมป์โลก วัน แชมเปียนชิพประเภทมวยไทยและ คิกบ็อกซิ่ง (kickboxing) รุ่นอะตอมเวต อีกด้วย
เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกนักสู้หญิงไทยวัย 25 ปี ได้มีโอกาสมาจัดเวิร์คชอบ สอนทักษะการต่อสู้ด้วยมวยไทย ให้กับยิมศิลปะการต่อสู้หลายแห่งในสหรัฐฯ เป็นเวลา 10 วัน
“ก็ตื่นเต้น พยายามจะทำความรู้จักเขา แต่ก็พูดภาษาเค้าไม่ได้แต่ก็อยากทำความรู้จัก" แสตมป์กล่าวกับวีโอเอไทยก่อนที่จะแสดงฝีมือโชว์เทคนิคมวยไทยให้กับสมาชิกยิมศิลปะการต่อสู้ในรัฐเวอร์จิเนีย
Your browser doesn’t support HTML5
การมาของแสตมป์ หรือ ณัฐวรรณ พานทอง เป็นจังหวะเดียวกับที่ความสนใจในศิลปะแม่ไม้มวยไทยในสหรัฐฯ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากผู้ที่ต้องการออกกำลัง ผู้ที่สนใจเรียนรู้ศิลปะป้องกันตัว ไปจนถึงผู้ที่ใช้มวยไทยในสังเวียนการต่อสู้มืออาชีพ
"มวยไทยกำลังได้รับความนิยมมากทั่วสหรัฐฯ การมีการจัดทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่าง วัน แชมเปียนชิพ หรือ ยูเอฟซี (UFC) และการที่มีคนบินไปเรียนมวยไทยตามค่ายต่าง ๆ ที่ประเทศไทย ทำให้คนได้รู้จักและสัมผัสกับมวยไทยที่แท้จริงมากขึ้น" คริส หรือ คริสโตเฟอร์ อะบอย (Christopher Aboy) เจ้าของยิม T.A.G. Muay Thai ที่สอนมวยไทยและศิลปะป้องกันตัวในเมืองสเตอร์ลิง รัฐเวอร์จิเนีย กล่าวกับวีโอเอไทย
คริสยังกล่าวอีกว่า มวยไทย "ต่างกับศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วคู่ต่อสู้มักจะไปสู้กันบนพื้น แต่มวยไทยนั้นแอคทีฟมาก...พวกเขาได้เคลื่อนไหวตลอด ไม่มีหยุดเลย ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่คนต้องการ พวกเขาต้องการได้อะไรแบบนั้นจากศิลปะการต่อสู้"
เมื่อมองดูกลุ่มชาวอเมริกันหลายสิบคนที่มาเข้าร่วมเวิร์คชอบมวยไทยกับแสตมป์ในยิมแต่ละแห่ง จะเห็นว่า มีผู้คนทุกเพศทุกวัย และยังมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ซึ่งหลายคนบอกว่าพวกเธอติดตามดูการต่อสู้ของแสตมป์ทุกแมตช์
"แสตมป์เป็นแรงบันดาลใจให้ฉัน ฉันตื่นเต้นมากเมื่อรู้ว่าเธอจะมา" โอลิเวีย ลิซซารากา (Olivia Lizzaraga) ที่มาเข้าร่วมสัมมนามวยไทยกับสแตมป์ที่ยิม Impact Martial Arts ในเวอร์จิเนียบีช รัฐเวอร์จิเนีย กล่าว
โอลิเวียยังเล่าว่าสแตมป์ทำให้เธอกลับมาฝึกมวยไทยสัปดาห์ละ 5 วันต่อสัปดาห์ หลังจากที่เคยฝึกมาและหยุดไปเมื่อเธอมีลูกคนแรก นอกจากนั้น แม่บ้านวัย 27 ปียังวางแผนที่จะลงแข่งมวยไทยและการต่อสู้แบบผสม ตามรอยแสตมป์ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย
"ฉันเห็นว่ามีผู้หญิงมากขึ้นที่เข้ามาฝึกมวยไทยและศิลปะการต่อสู้ และฉันก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี มันสำคัญมากที่ผู้หญิงจะเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเอง ฉันคิดว่าตอนนี้มียิมหลายแห่งที่เปิดสอน มีคลาส ซึ่งทำให้ผู้หญิงอยากมาเรียนรู้มากขึ้น นอกจากนั้น การได้เห็นแสตมป์ และนักสู้หญิงคนอื่น ๆ ในไฟต์ต่าง ๆ มันยิ่งทำให้ฉันคิดว่า ฉันก็น่าจะทำได้เหมือนกัน" โอลิเวียกล่าว
การมาสอนทักษะและเทคนิคมวยไทยให้กับผู้สนใจในอเมริกาครั้งนี้ เป็นการเดินทาง 8 รัฐจากฝั่งตะวันตกสู่ฝั่งตะวันออกของอเมริกา เป็น 10 วันที่แน่นและเหนื่อย แต่แสตมป์บอกว่าเธอรู้สึกสนุก และหวังว่าจะได้กลับมาจัดเวิร์คชอบอีกครั้ง
"หลายคนที่มาในงานสัมมนา เขาจะพูดกับหนูว่าหนูเป็น inspiration (แรงบันดาลใจ) ของเขา มันทำให้หนูรู้สึกตื้นตันมากที่ทำให้คนคนหนึ่งมีแรงใจในการซ้อม ในการทำอย่างที่เขาชอบ" แสตมป์กล่าว
“หนูก็ดีใจค่ะที่มาสอนให้พวกเขา ซึ่งหลาย ๆ คนเป็น fighter ที่เอาไปใช้ได้ หลายคนก็แบบเป็นนักกีฬาที่มาซ้อมเฉย ๆ ไม่ได้ไปต่อย ก็ได้รู้เทคนิคนี้ไป...รู้สึกว่าวัฒนธรรมของเราทำให้หลาย ๆ คนยอมรับมากขึ้น เพราะมวยไทยเป็นของไทยดั้งเดิมอยู่แล้ว ซึ่งต่างชาติพอเข้ามาเรียนรู้ แล้วก็ซึมซับ อยากจะเป็น อยากจะทำ ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเทียบกับสิ่งของ มันก็เหมือนของขึ้นชื่อ ก็ดีที่ทุกคนให้การยอมรับกับวัฒนธรรมของไทย”