ก่อนหน้านี้วีโอเอไทยได้รายงานการเดินทางมายังสหรัฐฯ ของ “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” นักสู้ซูเปอร์สตาร์หญิงไทย เพื่อสอนเทคนิคมวยไทยให้ชาวอเมริกัน รายงานพิเศษตอนสุดท้ายนี้จะเป็นเจาะลึกถึงเส้นทางและการต่อสู้ไขว่คว้าฝัน เพื่อเป็นเจ้าของเข็มขัดการต่อสู้แบบผสมผสานของนักชกหญิงจากระยองคนนี้
ภาพของนักมวยเด็กหญิงร่างเล็ก ที่เข้าคลุกวงใน ตีเข่า รัวหมัดไม่ยั้งใส่คู่ต่อสู้ไซส์บอบบางพอกัน ท่ามกลางเสียงเชียร์ของผู้ใหญ่หลายสิบคน เป็นภาพในอดีตของ เด็กหญิง ณัฐวรรณ พานทอง ที่ในวันนี้ แฟนมวยและการต่อสู้แบบผสมผสานทั้งในและต่างประเทศ จะรู้จักเธอในนาม “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” ซูเปอร์สตาร์นักสู้หญิงไทย ที่คว้าแชมป์ใหญ่มาแล้วสามรายการ
“หนูภูมิใจในตัวเองมาก ถ้ามองย้อนกลับไป หนูก้าวมาเยอะมาก ๆ และแต่ละทางที่หนูเดินมา มันผ่านร้องไห้ ดราม่า ท้อ ทุก ๆ อย่างเลย แต่หนูก็ยังผ่านมาได้จนถึงทุกวันนี้ หนูรู้สึกตัวเองเก่งมาก ๆ และภูมิใจที่ตัวเองยืนอยู่ได้ทุกวันนี้” แสตมป์กล่าวกับวีโอเอไทย
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แชมป์ วัน (ONE) เวิลด์ กรังซ์ปรีด์ ประเภทการสู้แบบผสมผสาน หรือ mixed martial arts (MMA) รุ่นอะตอมเวต เดินทางข้ามฟ้ามายังสหรัฐฯ เพื่อสอนทักษะมวยไทยให้กับยิมสอนศิลปะการต่อสู้ 10 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
เป็นที่น่าสนใจว่า ที่ยิมบางแห่ง เช่น T.A.G. Muay Thai ในเมืองสเตอร์ลิง รัฐเวอร์จิเนีย แสตมป์เป็นนักชกหญิงคนที่สอง ที่ได้มาจัดเวิร์คชอบมวยไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้มักจะมีแต่นักชกชายเท่านั้นที่ได้มาเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้ของไทย
โอกาสที่แสตมป์ได้รับ ทั้งในการแข่งขันระดับโลกอย่างทัวร์นาเมนต์ วัน แชมเปียนชิพ (One Championship) จนเคยคว้าเข็มขัดแชมป์ประเภทมวยไทย และคิกบ็อกซิ่ง kickboxing) รุ่นอะตอมเวต และการตอบรับทั้งในและต่างประเทศ ยังแสดงให้เห็นถึงโอกาสของนักกีฬาหญิงที่มีมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในสังเวียนการต่อสู้ ทั้งมวยไทย และการต่อสู้แบบผสมผสาน
“หนูรู้สึกว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาก ๆ มันเป็นการเปิดโอกาสให้นักมวยหญิงเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทำให้หลาย ๆ คนที่มีฝีมืออยู่แล้ว ได้เข้าไปเวทีใหญ่ ทำให้โปรโมเตอร์หลายๆ คนได้เห็น ได้จับตามอง มีแมวมองเห็น หนูรู้สึกว่ามันดีมาก ๆ ที่เปิดรับผู้หญิงมากขึ้น”
ก่อนหน้านี้ นักมวยหรือนักสู้หญิงหลายคนพบว่าเส้นทางของพวกเธอมักจะถูกจำกัด มีน้อยคนที่จะได้รับโอกาสทางอาชีพ หรือรายได้
เส้นทางของแสตมป์ เมื่อสิบกว่าปีก่อนก็ไม่ต่างกัน
เด็กหญิงร่างเล็กจากระยองเริ่มหัดชกมวยตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาลและอายุเพียง 5 ขวบ หลังจากที่เธอถูกเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้ง พ่อของแสตมป์เป็นอดีตนักมวยไทยชื่อ “วิสันต์เล็ก ลูกบางปลาสร้อย” ในขณะที่ลุงก็มีค่ายมวยเล็ก ๆ ของตัวเอง
แสตมป์ได้ฝึกซ้อม และมีโอกาสขึ้นชกครั้งแรก โดยน็อกคู่ต่อสู้ตั้งแต่ยกที่หนึ่ง
ฝีไม้ลายมือทำให้เธอได้เป็นแชมป์ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ด้วยความที่มวยหญิงนั้นไม่ได้เป็นที่นิยมนัก การหาคู่ชก และโอกาสชกจึงยากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เธอต้องหยุดชกมวยไปถึง 8 ปี
"ถ้าเป็นตอนเด็ก ๆ ที่แตมป์ต่อยยังไม่มีการยอมรับใด ๆ ทั้งสิ้น แค่ในเมืองภูธรน่ะโอเคอยู่ แต่ยังไม่มีการยอมรับขนาดนั้น ซึ่งพอเป็นเวทีใหญ่ก็ไม่มีใครจะเอาผู้หญิงมาจัดเวทีใหญ่อยู่แล้ว”
เธอเคยคิดจะทำอาชีพอื่น จนกระทั่งได้รับการชักชวนให้ไปคัดตัวเข้าร่วมค่ายดังแห่งเมืองพัทยาอย่างแฟร์เท็กซ์ (Fairtex) และได้รับโอกาสชิงแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นอะตอมเวตในทันที
“แสตมป์คิดว่า ตัวแตมป์เองได้รับการสนับสนุนจากแฟร์เท็กซ์ด้วย เพราะว่าแตมป์เป็นผู้หญิงคนแรกด้วย ก็เลยมีการเข้าถึงเยอะ มีการจ้างโค้ชมาสอน ทั้ง MMA (การต่อสู้แบบผสมผสาน) BJJ (บราซิลเลียนยิวยิตสุ) แล้วก็สากล”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โปรโมเตอร์และองค์กรกีฬามวยหลายองค์กร ได้หันมาลุยตลาดมวยหญิงมากขึ้น มีการจัดชกเป็นมวยคู่เอกในการชิงแชมป์ใหญ่ สร้างเม็ดเงินและมูลค่าทางการตลาดให้กับนักสู้หญิงมากกว่าเดิม ถึงแม้จะยังไม่เท่ากับนักสู้ชายก็ตาม
ในขณะเดียวกัน สนามมวยลุมพินี และเวทีราชดำเนิน สังเวียนใหญ่ระดับชาติของไทย ที่ไม่เคยอนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นชกหรือแม้แต่สัมผัสพื้นเวที ก็ยังได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการอนุญาตให้มีการจัดการชกมวยหญิงขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาเพียงสองปีที่ผ่านมา
"หนูว่า ณ ตอนนี้ น่าจะยอมรับกันมากขึ้นแล้วเพราะว่ามวยหญิงหลาย ๆ คน สามารถทำชื่อเสียงให้ประเทศไทยได้ ยกตัวอย่างอย่างเช่นหนู เวลาหนูไปต่อย หนูไม่ได้เอาแต่ชื่อตัวเองหรือชื่อค่ายไป หนูเอาประเทศไปด้วย สมมติว่าถ้าเราชนะ มันทำให้หลาย ๆ คนยอมรับว่า เรามาจากประเทศไทย แล้วเราก็ทำได้ดี ทุกคนเวลาเขามอง เขาไม่ได้มองคนคนเดียว มองภาพรวม หนูมองว่า หลาย ๆ คนเร่ิมยอมรับว่าผู้หญิงก็เก่งพอสมควร” แสตมป์กล่าว
ในการมาจัดเวิร์คชอบมวยไทยในสหรัฐฯ สิ่งหนึ่งที่ชาวอเมริกันที่เข้าร่วมให้ความสนใจ คือคำถามที่ว่าแสตมป์ทำอย่างไรเมื่อเธอรู้สึกย่ำแย่กับผลงานตัวเอง ซึ่งนักชกวัยเบญจเพศได้เล่าอย่างเปิดเผยว่า ช่วงที่เธอสูญเสียเข็มขัดแชมป์สองเส้นไล่เลี่ยกัน และเลิกกับแฟนหนุ่ม เป็นช่วงที่หนักที่สุดในชีวิต
“คนอื่นให้กำลังใจก็ไม่เท่าตัวเองให้กำลังใจ ต่อให้คนอื่นให้กำลังใจมากแค่ไหน ตัวเองยังดาวน์มันก็ไม่ขึ้นอยู่ดี มันสุดแล้ว ลงสุดแล้ว มันไม่มีทางลงอีกแล้ว ก็ต้องขึ้นแล้วแหละ ก็ให้ตัวเองว่า ไม่เป็นไรเอาใหม่ ความรักก็ช่างมัน อายุแค่นี้เองเดี๋ยวก็เจออีก เรื่องมวย คือเรายังมีโอกาส เราอยู่ค่ายใหญ่ เราต้องขยันกว่าเดิม เล่นแค่นี้เราต้องเล่นมากขึ้น”
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของแสตมป์ คือความร่าเริง ขี้เล่น และการเต้นบนเวที แต่บางคนอาจไม่รู้ว่า เพียงไม่กี่นาทีก่อนขึ้นเวที นักสู้หญิงวัย 25 ปี จะรู้สึกประหม่าอย่างมากจนส่งผลต่อร่างกายเธอทุกครั้ง
“พอใกล้จะต่อยแล้ว มีเอฟเฟ็คต์มาเต็ม อ้วกบ้าง ปวดฉี่บ้าง อยู่ไม่เป็นสุข กระสับกระส่าย นั่งหายใจในห้องน้ำ พูดกับตัวเองว่า วันนี้วันของตัวเองนะ วันของแสตมป์นะ ซ้อมมามากมาย ต้องทำได้ เจ็บอะไรมามากมาย กับอีกแค่วันเดียว แค่ไม่กี่นาที ต้องทำได้ ออกไปทำ”
เรื่องราวชีวิตและเส้นทางของ แสตมป์ สู่นักสู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ตลอดจนการฝ่าฟันอุปสรรค ไต่เต้าขึ้นมาเป็นนักสู้ระดับแนวหน้า ยังทำให้ผู้เข้าร่วมเวิร์คชอบมวยไทยอย่าง อแมนดา พาร์ค (Amanda Park) หญิงอเมริกันเชื้อสายเอเชียวัย 27 ประทับใจและอยากมาสัมผัสตัวจริง
"สิ่งที่ฉันชอบมากที่สุดเกี่ยวกับแสตมป์ก็คือ เธอเป็นผู้หญิงที่แกร่งมาก ถึงแม้ว่าจะต้องเจ็บตัว บาดเจ็บ หรือมีความไม่พร้อม เธอก็ไม่เคยแสดงออก ฉันว่ามันต้องใช้ความเข้มแข็งมาก ๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง และการที่เธอต้องขึ้นชกตั้งแต่ยังเด็กมาก มีพื้นฐานครอบครัวที่ไม่ได้มีอะไรมาก แต่ยังสามารถรักษาวินัยตั้งแต่ยังเด็กจนถึงทุกวันนี้ ฉันว่ามันเป็นคุณสมบัติที่น่าทึ่งน่าชื่นชมมาก ๆ" อแมนดากล่าว
ทุกวันนี้ แสตมป์ฝึกซ้อม 6 วันต่อสัปดาห์ ทั้งซ้อมมวยไทย การต่อสู้แบบผสมผสาน วิ่งและยกน้ำหนัก และใช้เวลาวันอาทิตย์เพื่อไปเรียน ซึ่งเธอกล่าวว่าความอดทนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ
“หนูอดทนสุด ๆ เลยในค่าย ซึ่ง หนูซ้อมมากกว่าคนอื่นเยอะมาก ๆ เช้า กลางวัน เย็น กลางคืน ซึ่งข้อนี้เป็นข้อที่ดีของหนู เป็นคนมีความอดทนสูง ถึงอาจจะไม่ขยันซักเท่าไหร่ อาจจะหัวช้าไปบ้าง แต่หนูก็อดทนที่จะเรียนรู้ต่อ”
แสตมป์สามารถหารายได้จากการชกมวย ช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก เธอบอกว่านั่นเป็นความภูมิใจที่กลายมาเป็นแรงขับผลักดันให้เธอก้าวไปข้างหน้า ถึงแม้ว่าการชกมวยจะต้องแลกมากับอะไรหลายอย่างก็ตาม
“ครอบครัวค่ะ ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญสุด ๆ เลย ที่แบบพยายามเดินเข้ามา ถึงมันจะแบบ เฮ้ยถ้าต่อยไปแล้วมันต้องเจ็บตัวนะ ก็พยายามเดิน เดินต่อไป และอีกอย่างหนึ่งเราชอบด้วย เหตุผลหลัก ๆ ก็มีครอบครัวด้วยที่พยายามให้กำลังใจ เราก็คิดว่า ต่อยไปนาน ๆ เราก็มีเงิน เราก็ช่วยพ่อกับแม่ได้ ช่วยครอบครัวได้ สามารถสร้างฐานของครอบครัวให้มันสูงขึ้นได้อีก”
จากเด็กหญิงนักมวยจังหวัดระยอง สู่แชมป์การแข่งขันระดับโลก แสตมป์บอกว่าวันนี้เธอมาไกลมากกว่าที่คิด เป้าหมายต่อไปของเธอ คือการคว้าแชมป์การต่อสู้แบบผสมผสานให้ได้ และเธอมั่นใจว่าปีใหม่นี้ จะเป็นปีที่ดีของเธอ