รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คามาลา แฮร์ริส ยืนยันกับผู้นำกลุ่มประเทศเอเชียในวันศุกร์ว่า “สหรัฐฯ ปักหลักอยู่” (The United States is here to stay) ในภูมิภาค เพื่อพยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลกรุงวอชิงตันเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เชื่อถือได้ และมุ่งมั่นที่จะสร้างความรุ่งเรืองให้กับภูมิภาคนี้
รอง ปธน. แฮร์ริส กล่าวที่เวที เอเปค (APEC) หรือการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ว่า สหรัฐฯ เป็น “มหาอำนาจแปซิฟิกผู้ภาคภูมิ” (Proud Pacific power) และมี “ความต้องการที่จะส่งเสริมภูมิภาคนี้ให้เป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง รุ่งเรือง ปลอดภัย และ ยืดหยุ่น"
“สหรัฐฯ มีพันธสัญญาทางเศรษฐกิจที่ยาวนานในภูมิภาคอินโดแปซิฟิค ที่ไม่สามารถวัดได้ด้วยจำนวนปี แต่นานหลายทศวรรษ หลายช่วงอายุคน” เธอกล่าว “และไม่มีหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจใดในภูมิภาคนี้ที่ดีไปกว่าสหรัฐอเมริกา”
รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ยังได้เปิดตัวโครงการส่งเสริมร่วมมือใหม่หลายโครงการ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ และเพื่อสนับสนุนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ตามการเปิดเผยของ เรเชล พาเลอร์โม รองผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของสำนักงานรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ
โครงการดังกล่าวเป็นการขยายความร่วมมือทวิภาคีในหลาย ๆ ด้าน อาทิเช่น การแก้ปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศโดยการเร่งการถ่ายโอนจากพลังงานดั้งเดิมไปเป็นพลังงานสะอาด ความร่วมมือทวิภาคีและการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านโทรคมนาคม สาธารณสุข ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ และการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยผ่านการให้เงินทุน จัดการอบรม ให้การสนับสนุน เป็นต้น
ก่อนหน้านี้รองผู้นำสหรัฐฯ ได้เลื่อนกำหนดเริ่มกล่าวสุนทรพจน์ของเธอออกไป เพื่อประชุมด่วนกับผู้นำของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา หลังจากที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (intercontinental ballistic missile) ไปตกใกล้กับน่านน้ำประเทศญี่ปุ่น โดยเธอได้ประณามการทดสอบขีปนาวุธดังกล่าวว่าเป็น “การละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างโจ่งแจ้ง” และยังกล่าวอีกว่า “การกระทำดังกล่าวเป็นการสั่นคลอนความมั่นคงของภูมิภาคและยกระดับความตึงเครียดโดยไม่จำเป็น”
“เราขอประณามการกระทำเหล่านี้และขอเรียกร้องอีกครั้งให้เกาหลีเหนือหยุดการกระทำที่สร้างความสั่นคลอนอย่างผิดกฎหมายนี้” แฮร์ริสกล่าว “ในฐานะตัวแทนของสหรัฐฯ ดิฉันขอยืนยันว่าเรามีความผูกพันที่แน่นแฟ้นกับพันธมิตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก”
สุนทรพจน์ของแฮร์ริสในการประชุมเอเปค เป็นการปิดฉากช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ ได้ยื่นมือสร้างสัมพันธ์ในเอเชีย ในช่วงเวลาที่กรุงวอชิงตันพยายามที่จะทัดทานการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนในกัมพูชา ต่อด้วยการประชุม จี-20 ในประเทศอินโดนีเซีย
ไบเดนยังได้เน้นย้ำพันธสัญญาของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคนี้ และยังได้พบปะตัวต่อตัวกับประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ซึ่งหลังจากการพบปะครั้งนั้น ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า “ไม่จำเป็นต้องมีสงครามเย็นครั้งใหม่” ระหว่างทั้งสองประเทศ และเน้นย้ำว่า สหรัฐฯ จะแข่งขันกับจีนอย่างแข็งขัน “แต่ผมไม่ต้องการสร้างความขัดแย้ง”
หลายประเทศในเอเชียเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับพันธสัญญาของสหรัฐฯ ในเอเชีย หลังจากที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก Trans-Pacific Partnership (TPP) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” หรือ Pivot to Asia ของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา
รัฐบาลของไบเดนได้พยายามที่จะนำความเชื่อมั่นกลับคืนมา และฉวยโอกาสในช่วงเวลาที่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อผูกมัดของจีน จากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายในภูมิภาค ซึ่งมีผู้วิจารณ์เรียกว่าโครงการดังกล่าวเป็น การทูต “กับดักหนี้” (debt trap diplomacy) ของจีน โดยมักจะมีการยกตัวอย่างศรีลังกา ที่กู้ยืมเงินจำนวนมากจากจีนเพื่อนำไปพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลได้เพียงพอที่จะนำไปใช้คืนหนี้ที่กู้ยืมมา หนี้จำนวนมหาศาลดังกล่าวได้ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้ว่า จีนจะไม่ใช้เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของศรีลังกาก็ตาม
รอง ปธน. คามาลา แฮร์ริส กล่าวในการประชุมสุดยอดเอเปคว่า ในทางตรงกันข้าม การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายพันล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศ จี-7 อื่น ๆ เตรียมไว้ให้กับประเทศกำลังพัฒนานั้น เป็นเงินทุนที่ “มีมาตรฐานสูง โปร่งใส เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม และไม่ทำให้ประเทศใดต้องตกอยู่ในภาวะหนี้สินท่วมตัว”
รองผู้นำสหรัฐฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework) ที่กรุงวอชิงตันเปิดตัวเมื่อต้นปี และกล่าวว่าปัจจุบันกรอบความร่วมมือดังกล่าวประกอบด้วยกลุ่มประเทศที่มูลค่าเศรษฐกิจนับเป็น 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ จีดีพีของโลก
เธอกล่าวว่าเกือบ 30% ของการส่งออกสินค้าอเมริกันมีปลายทางที่กลุ่มประเทศอินโดแปซิฟิค ในขณะที่บริษัทอเมริกันลงทุนประมาณหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละปีในภูมิภาคนี้
“วิธีของอเมริกาในความสัมพันธ์เหล่านี้ มีพื้นฐานมาจากความร่วมมือ ความยั่งยืน ความโปร่งใส และความเป็นธรรม” เธอกล่าว
“เราจะยังคงยึดมั่นและสร้างความเข้มแข็งให้กับกฎและระเบียบของเศรษฐกิจนานาชาติ ที่คุ้มครองตลาดเสรี สร้างภาวะที่สามารถคาดเดาได้ และความมั่นคง ซึ่งจำเป็นที่จะปกป้องบริษัทต่าง ๆ จากการเข้าแทรกแซงตามอำเภอใจ ปกป้องประเทศต่าง ๆ จากการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ และปกป้องสิทธิของคนงาน”
เธอยังให้คำมั่นกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมด้วยว่า การสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ทั้งสองพรรคการเมืองของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญมาก และเป็นประเด็นที่จะยืนยงไปอีกยาวนาน
“ในขณะที่เราก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน บริษัทต่าง ๆ และเศรษฐกิจในประเทศนี้ จะได้พบว่าสหรัฐฯ จะนำมาซึ่งโอกาสอันมากมายในการเติบโต” แฮร์ริสกล่าว “(จะได้พบว่า) สหรัฐฯ เป็นประเทศที่จะยึดถือกฎหมาย และในฐานะประเทศที่จะช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับทุก ๆ คน”
- ที่มา: เอพี และวีโอเอ