กลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนประชาธิปไตยปะทะกับตำรวจสลายฝูงชนในวันพฤหัสบดี ที่กรุงเทพฯ บริเวณใกล้กับสถานที่จัดการประชุมสุดยอดเอเปคเพียงไม่กี่ร้อยเมตร
ในการรักษาความปลอดภัยการประชุมสุดยอดครั้งนี้ที่มีผู้นำ 21 ชาติของภูมิภาคชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าร่วม ทางการไทยระดมตำรวจและทหารหลายหมื่นคนประจำการทั่วกรุงเทพฯ เพื่อควบคุมมิให้เกิดการประท้วงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในวงกว้าง
ก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ ผู้ซึ่งยึดอำนาจเมื่อ 8 ปีก่อนและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร ได้เรียกร้องให้ผู้ประท้วงอย่าก่อความวุ่นวายในช่วงการประชุมสุดยอดเอเปค
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์เผชิญการประท้วงตามท้องถนนหลายครั้ง และบางครั้งนำไปสู่ความรุนเเรง ท่ามกลางการเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง และให้มีการเลือกตั้งใหม่
เมื่อเดือนกันยายน ศาลรัฐธรรรมนูญออกคำวินิจฉัยว่าเขาสามารถดำรงตำแหน่งต่อไป อย่างน้อยจนถึงการเลือกตั้งปีหน้า หลังจากมีการต่อสู้กันทางกฎหมายที่สะท้อนความแตกแยกทางการเมืองในประเทศไทย
ความตึงเครียดยกระดับขึ้นในช่วงไม่กี่วันก่อนการประชุมเอเปค โดยตำรวจออกติดตามกิจกรรมของกลุ่มผู้ประท้วงตามห้างสรรพสินค้า และสถานที่สาธารณะอื่น ๆ ที่พยายามเคลื่อนไหวแบบ 'แฟลชม็อบ' ซึ่งเป็นการรวมตัวอย่างฉับไว
ในวันพฤหัสบดี ตำรวจควบคุมฝูงชนพร้อมโล่รับมือเหตุจลาจล ผลักกลับกลุ่มผู้ประท้วงที่โกรธเกรี้ยวใกล้ที่จัดประชุมสุดยอดเอเปค ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการเดินทางมาถึงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน
ผู้ประท้วงต้องการให้พลเอกประยุทธ์ลาออกและให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมถึงปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ม.112 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี
นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การกระทำผิดม.112 เกิดเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงราวสองปีที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยจัดการชุมนุมหลายครั้ง
- ที่มา: วีโอเอ