ผู้นำและตัวแทน 21 ชาติและเขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) เริ่มเดินทางถึงประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นการรวมตัวของเหล่าผู้นำนานาชาติเวทีที่ 3 ในช่วง 1 สัปดาห์
สื่อต่างชาติหลายสำนักรายงานประเด็นคล้าย ๆ กันว่า ผู้ที่กลายมาเป็นดาวเด่นในการประชุมที่กรุงเทพฯ นั้นเหลืออยู่เพียง 1 เดียว ซึ่งก็คือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีน หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียตัดสินใจไม่มาร่วมงานนี้
ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า การที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้มาร่วมการประชุมเอเปค หมายความว่า ปธน.สี ไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับปธน.ไบเดน บนเวทีหารือนานาชาติแห่งนี้ที่มีเป้าหมายหลักในเรื่องเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เป็นจุดท้าประลองระหว่างสหรัฐฯ และจีนอยู่ ขณะที่ การที่ปธน.ปูติน ตัดสินใจส่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งมาร่วมงานแทน ผู้นำจีนไม่ต้องกระอักกระอ่วนใจที่จะต้องประจัญหน้ากับคนที่ตนเรียกว่าเป็น เพื่อนซี้ แต่กลายมาเป็นคนที่โลกตะวันตกรังเกียจเพราะการสั่งกองทัพบุกเครน
นอกจากนั้น การที่ปธน.สี เป็นผู้นำมหาอำนาจรายเดียวในงานนี้ จีนจะมีโอกาสเต็มที่ในการส่งเสริมวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจของตนต่อผู้นำและตัวแทนประเทศและเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีวาระร่วมประชุมหารือในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่ ภาวะเงินเฟ้อ ไปถึง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปัญหาเสถียรภาพด้านพลังงาน ที่ล้วนมีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงพนมเปญ และการประชุมสุดยอดจี-20 ที่เกาะบาหลีแล้ว
ยุน ซุน ผู้อำนวยการโครงการจีน ณ หน่วยงานคลังสมอง Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน บอกกับ ซีเอ็นเอ็น ว่า ที่เวทีเอเปคในปีนี้ จีนคือจุดศูนย์กลางที่ดึงดูดความสนใจได้อย่างแน่นอน โดยเพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซีย มาแย่งความสนใจไป ขณะที่ ข้อความที่จีนจะส่งออกมาในงานนี้แบบเป็นนัยก็คือ การที่ผู้นำกรุงปักกิ่งมาร่วมงานนี้แสดงให้เห็นว่า จีนต้องการมีส่วนร่วมกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากกว่าทั้งกรุงวอชิงตันและกรุงมอสโก
และไม่นานหลังเดินทางถึงประเทศไทยในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดี ปธน.สี เข้าร่วมประชุมกับตัวแทนภาคธุรกิจและกล่าวกับผู้ร่วมงานว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่ควรกลายมาเป็นเหมือนพื้นที่สวนหลังบ้านของประเทศใดประเทศหนึ่ง และไม่ควรกลายมาเป็นสนามประลองกำลังของประเทศมหาอำนาจใด ๆ ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ชี้ว่า ผู้นำจีนน่าจะหมายถึงสหรัฐฯ ที่พยายามผูกสัมพันธ์กับพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคนี้เพื่อต่อกรกับอิทธิพลทางทหารและเศรษฐกิจของจีนที่มีลักษณะขู่กรรโชกมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในสุนทรพจน์ที่ผู้นำจีนนำเสนอต่อที่ประชุมภาคธุรกิจนี้ ปธน.สี ระบุว่า “จะไม่ยอมให้ใครพยายามก่อสงครามเย็นครั้งใหม่” และว่า “เราควรดำเนินตามเส้นทางของการเปิดกว้างและการเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม ... ทุกฝ่ายควรปฏิเสธนโยบายที่ดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว (unilateralism) และลัทธิการคุ้มครองทางการค้า (protectionism) รวมทั้ง ความพยายามใด ๆ ก็ตามที่จะนำเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางการค้าให้กลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองหรือกลายมาเป็นอาวุธต่อกรกัน ... (และ)ความพยายามใด ๆ ที่จะรบกวน หรือแม้แต่ ลบล้างห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม ... มีแต่จะนำพาความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกไปสู่จุดจบเท่านั้น”
นอกจากนั้น ปธน.สี ยังได้เข้าร่วมการประชุมทวิภาคีที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกของผู้นำของสองประเทศในรอบเกือบ 3 ปี โดยนายกฯ คิชิดะ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน และยืนยันกับผู้นำจีนว่า ญี่ปุ่นพร้อมจะเปิดช่องทางการสื่อสารทางการทูตอย่างใกล้ชิดกับจีนด้วย ตามรายงานของรอยเตอร์
ผู้นำญี่ปุ่นเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า ตนและปธน.สี เห็นพ้องต้องกันว่า รัสเซียต้องไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์โจมตียูเครน แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่า ผู้นำจีนกล่าวให้ความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน
สำนักข่าวเอพี ระบุว่า ปฏิกิริยาของประเทศสมาชิกเอเปคต่อสงครามที่ดำเนินมาเกือบ 9 เดือนและส่งผลกระทบต่อราคาอาหารและพลังงาน รวมทั้งทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ทั้งยังทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เดินหน้าไม่ได้เต็มที่ เป็นอีกประเด็นที่หลายฝ่ายจับตาดูในการประชุมนานาชาติที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ หลังการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนหน้านี้ไม่มีการออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสงครามยูเครนเลย เนื่องจากหาข้อสรุปไม่ได้ว่า จะใช้คำพูดอย่างไร
ขณะเดียวกัน เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ บอกกับผู้สื่อข่าวเอพีว่า ขณะที่ รัฐบาลไทยนั้นหวังว่า ที่ประชุมเอเปค 2022 จะบรรลุข้อตกลงการหารือในประเด็นต่าง ๆ ทั้งเรื่องความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการค้าและการลงทุนอย่างยั่งยืน และเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้คำพูดสำหรับแถลงการณ์ที่ประชุมในเรื่องของสถานการณ์ในยูเครนจะเป็น “องค์ประกอบที่มีความท้าทายมากที่สุดในการเจรจา” บนเวทีการประชุมปีนี้
อย่างไรก็ดี ที่การประชุมจี-20 ซึ่งเพิ่งจบลงไปนั้น มีการออกปฏิญญาที่ได้รับมติเป็นเอกฉันท์จากผู้นำที่เข้าร่วมงานซึ่งมีเนื้อหาประณามสงครามในยูเครน แต่มีการระบุว่า บางประเทศนั้นมีมุมมองต่อสถานการณ์สงครามนี้ที่แตกต่างจากประเทศอื่น
และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติมีมติเรียกร้องให้รัสเซียรับผิดชอบต่อการกระทำของตนในยูเครนและการชดใช้ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านของตนด้วย
โดยมติที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากชาติสมาชิก 94 ประเทศจากทั้งหมด 193 ประเทศ ระบุว่า รัสเซีย ซึ่งทำการรุกรานยูเครน ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์นั้น “ต้องยอมรับผลลัพธ์ทางกฎหมายจากการกระทำต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการชดใช้ต่อผู้บาดเจ็บและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ว่า”
ในการลงมติครั้งนี้ ประเทศไทยงดออกเสียงเช่นเดียวกับอีก 72 ประเทศ ขณะที่มี 14 ประเทศออกเสียงคัดค้านมติดังกล่าว
- ที่มา: เอพี รอยเตอร์ และ ซีเอ็นเอ็น