ผู้เชี่ยวชาญกังวล เด็กอเมริกันเรียนมหาวิทยาลัยน้อยลง

FILE- In this March 14, 2019, file photo students walk on the Stanford University campus in Santa Clara, Calif.

FILE- In this March 14, 2019, file photo students walk on the Stanford University campus in Santa Clara, Calif.

นับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ชาวอเมริกันที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมีจำนวนลดลง 1 ล้านคน ขณะที่นักวิจัยประเมินว่า ยอดรวมของจำนวนดังกล่าวอาจสูงถึง 3 ล้านคนตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในสหรัฐฯ พูดถึงสาเหตุที่ทำให้อัตราดังกล่าวมีจำนวนลดลงเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งรวมไปถึงอัตราการเกิดที่ต่ำลง อัตราค่าจ้างของงานส่วนใหญ่ที่สูงขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ ตลอดจนค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและนักเศรษฐศาสตร์เริ่มคิดถึงผลกระทบในระยะยาวหากการลดลงนี้ยังคงดำเนินต่อไป บางคนเตือนว่าเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ เนื่องจากประเทศคู่แข่งอย่างจีน มีนักเรียนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

เจสัน เลน (Jason Lane) หัวหน้าคณะครุศาสตร์ สุขภาพ และสังคม ที่มหาวิทยาลัย Miami University ในรัฐโอไฮโอ กล่าวว่า เมื่อมีคนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยน้อยลง สังคมก็จะแย่ลงไปด้วย นอกจากนี้การประสบความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจก็จะลดน้อยลง และจะหาบุคลากรมาเติมเต็มตำแหน่งงานต่าง ๆ ในอนาคตได้ยากขึ้นอีกด้วย

ทางด้าน อะเดรียน่า เลรัส มูนีย์ (Adriana Lleras-Muney) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย University of California-Los Angeles กล่าวว่า ช่องว่างทางการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้ความแตกแยกทางการเมือง สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เชื้อชาติ และชาติกำเนิด ที่มีอยู่แล้วแย่ลงไปกว่าเดิม

และผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่ง อะวิลดา ร็อดริเกซ (Awilda Rodriguez) จากมหาวิทยาลัย University of Michigan ตั้งข้อสังเกตว่า ความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติที่กำลังลดลงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

นักวิจัยจากศูนย์วิจัย National Student Clearinghouse Research Center กล่าวว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือเด็ก ๆ จากครอบครัวที่ยากจน นอกจากนี้จำนวนเด็กหนุ่มที่เข้ามหาวิทยาลัยก็ลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา

องค์กร College Board กล่าวว่า ผู้ที่จบการศึกษาเพียงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะมีรายได้น้อยกว่าผู้ที่จบมหาวิทยาลัยราวปีละ 25,000 ดอลลาร์ ขณะที่หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐและศูนย์วิจัย Pew ชี้ว่า ผู้ที่ไม่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีมีความเสี่ยงที่จะต้องใช้ชีวิตแบบยากจนหรือกลายเป็นคนตกงาน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะจ่ายภาษีน้อยลง ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล มีชีวิตที่ย่ำแย่และเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย

เจนนิเฟอร์ มา (Jennifer Ma) นักวิจัยอาวุโสจาก The College Board กล่าวว่า เมื่อคนอเมริกันสูงอายุปลดเกษียณ งานดีๆ ที่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจะยังคงว่างอยู่ เธอกล่าวว่า ตัวเลขการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ลดลงในช่วงการระบาดใหญ่นั้นเป็นตัวเลขที่น่าตกใจทีเดียว

เจสัน เลน จากมหาวิทยาลัย Miami University กล่าวเสริมว่า สิ่งที่เห็นในตอนนี้คือการที่โรงพยาบาลที่มีบุคลากรไม่เพียงพอ มีปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน หลาย ๆ โรงเรียนปิดการเรียนการสอนเพราะเรามีคนไม่เพียงพอที่จะเปิดโรงเรียนได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีชาวอเมริกันจำนวนน้อยลงที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น จีน แคนาดา เกาหลี และรัสเซีย กลับลงทุนในด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษากันมากขึ้น

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา กล่าวว่าขณะนี้สหรัฐฯ จัดอยู่ในอันดับที่ 12 ของการมีอัตราประชากรจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในบรรดาประเทศสมาชิก 38 ประเทศ แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สหรัฐฯ อยู่ที่อันดับที่ 3 เท่านั้น

จีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าในด้านนี้ โดยข้อมูลจาก World Education Services ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2000 ประเทศจีนได้มีจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 7.4 ล้านคนเป็นเกือบ 45 ล้านคนในปี 2018

การศึกษาอีกหนึ่งฉบับจากมหาวิทยาลัย Georgetown University ระบุว่า ภายในปี 2025 จีนจะผลิตนักศึกษาที่มีปริญญาขั้นสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ มากกว่าสหรัฐฯ เกือบสองเท่าในแต่ละปี

จามิล ซาลมิ (Jamil Salmi) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เคยทำงานที่ธนาคารโลก กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ ขาดแคลนบุคลากรที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี อาจทำให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายธุรกิจไปยังประเทศอื่น ๆ ที่มีพลเมืองที่มีการศึกษาสูงกว่า

อย่างไรก็ตาม เจสัน เลน กล่าวด้วยว่า วิกฤตการณ์ดังกล่าวนี้อาจส่งผลให้เกิดข่าวดีบางอย่างในสหรัฐฯ เนื่องจากผู้ที่ศึกษาในเรื่องแรงงานบางคนคิดว่า บรรดานายจ้างอาจจะหันมาพิจารณาประสบการณ์เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ในการพิจารณาเลือกบุคคลเข้าทำงาน แทนที่จะเน้นไปที่ระดับการศึกษาเป็นหลัก

  • ที่มา: วีโอเอ