เวลานี้อเมริกากำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูง ตลาดหุ้นตกต่ำ อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจหดตัวลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า สหรัฐฯ มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน หลังจากที่เพิ่งหลุดพ้นจากเศรษฐกิจถดถอยมาเมื่อสองปีก่อน
หากพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ในตอนนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างเชื่อว่าโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะยังมาไม่ถึงในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากผู้บริโภคยังคงใชจ่ายในระดับสูงแม้จะเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นก็ตาม ขณะที่ภาคธุรกิจก็ยังลงทุนซื้ออุปกรณ์และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และอัตราการจ้างงานก็ยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ดี
รูบีลา ฟารูกี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ High Frequency Economics ให้ความเห็นว่า "ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่างบ่งชี้ว่า ยังไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยเร็ว ๆ นี้" แต่นักวิเคราะห์ผู้นี้ก็เตือนว่า เศรษฐกิจอเมริกาอาจเผชิญกับลมปะทะอย่างไม่ทันตั้งตัวได้
SEE ALSO: ไบเดน ออกโรงปกป้องแผนงานเศรษฐกิจ-หวังกระตุ้นคะแนนนิยมหนึ่งในปัจจัยบ่งชี้ว่าความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังเพิ่มขึ้น คือ อัตราเงินเฟ้อที่ต่อเนื่องและคงทนกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์และธนาคารกลางสหรัฐฯ คาดการณ์ไว้ โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ดัชนีราคาผู้บริโภคในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.6% ซึ่งมากที่สุดในรอบ 41 ปี สืบเนื่องจากสงครามในยูเครนที่ทำให้ราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้นมาก รวมทั้งมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโควิดในจีนที่ทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานรุนแรงขึ้น
จับตานโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve (Fed) รับปากว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้ได้ รวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงมาก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็มีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า
ในวันพุธนี้ Fed จะประกาศว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในระดับเท่าไร โดยนักวิเคราะห์คาดว่าจะขึ้นที่ระดับ 0.75% ซึ่งจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในระดับสูงสุดในรอบ 28 ปี และอาจมีผลให้ธนาคารกลางจำกัดการปล่อยเงินกู้ยิ่งขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเศรษฐกิจถดถอยเช่นกัน
SEE ALSO: อเมริกันหวั่น 'stagflation' ศก.ซบเซาพ่วงเงินเฟ้อสูง ซ้ำรอย 40 ปีก่อนตัวอย่างผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย:
- การใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลง โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องมีการกู้ยืมเงิน เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งขณะนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านเพิ่มขึ้นไปถึงระดับสูงกว่า 5% ทำให้ยอดขายบ้านลดลง และแนวโน้มนี้กำลังเกิดขึ้นในตลาดรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่นกัน
- ต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจสูงขึ้น ซึ่งอาจชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจ ตลอดจนชะลอการจ้างงานใหม่ หรือแม้แต่ปลดพนักงานบางส่วนเพื่อลดต้นทุน ทำให้เกิดผลต่อเนื่องคือปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงเพราะกังวลต่อสถานะการเงิน
- มูลค่าสินทรัพย์หรือหุ้นต่าง ๆ ที่ลดลง อาจทำให้ครัวเรือนที่ครอบครองหุ้นไว้จำนวนมาก ตัดสินใจชะลอการใช้จ่าย ลดการเดินทางท่องเที่ยว ระงับการต่อเติมบ้านหรือซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ รวมทั้งทำให้บริษัทต่าง ๆ ที่มีมูลค่าการตลาดลดลงชะลอการลงทุนหรือจ้างงานเพิ่ม
ทั้งนี้ หากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ตัวอย่างที่กล่าวมาอาจเลวร้ายหรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยยิ่งสูงขึ้น
SEE ALSO: เงินเฟ้ออเมริกาพุ่งแตะ 8.6% สูงสุดในรอบเกือบ 41 ปีสัญญาณที่ชัดเจนบ่งชี้เศรษฐกิจถดถอย
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า สัญญาณที่สามารถบ่งชี้ได้ว่ากำลังจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือ บริษัทต่าง ๆ ปลดพนักงานอย่างต่อเนื่อง และอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นมาก ซึ่งโดยปกติแล้ว หากอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.3% ติดต่อกันสามเดือน หมายความว่าจะมีภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังจับตามองการเปลี่ยนแปลงในดอกเบี้ยพันธบัตร ว่าจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “inverted yield curve” หรือไม่ คือ สถานการณ์ที่อัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะปกติแล้วพันธบัตรระยะยาว เช่น พันธบัตร 10 ปี จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตร 3 เดือน หรือ 2 ปี เป็นต้น นั่นหมายความว่า นักลงทุนอาจมองเห็นความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Deutsche เชื่อว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงระดับอย่างน้อย 3.6% ภายในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งเป็นระดับที่อาจทำให้เกิดภาวะถดถอยภายในก่อนสิ้นปีหน้าได้
ถึงกระนั้น นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นนั้นจะไม่รุนแรง เนื่องจากครอบครัวอเมริกันมีสถานะการเงินที่ดีกว่าเมื่อปีค.ศ. 2008 ที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ รวมทั้งตลาดแรงงานที่แข็งแรงกว่าด้วยเช่นกัน
- ที่มา: เอพี