รถถังและขีปนาวุธของกองทัพรัสเซีย ไม่เพียงแต่ทำลายชุมชนและวิถีชีวิตของประชาชนยูเครนเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกที่พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตรอันอุดมสมบูรณ์ของผืนดินแถบทะเลดำ ซึ่งเรียกกันว่าเป็น "ตะกร้าขนมปัง" ของประชากรโลก
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เกษตรกรยูเครนจำนวนมากต่างละทิ้งไร่นาของตนเพื่อหนีเอาชีวิตรอดจากการรุกรานของทหารรัสเซีย ท่าเรือต่าง ๆ ปิดทำการทำให้ผลผลิตการเกษตรไม่สามารถออกจากประเทศได้ ขณะที่รัสเซียซึ่งเป็นผู้ปลูกข้าวสาลีและพืชผลสำคัญอื่น ๆ ก็กำลังถูกใช้มาตรการลงโทษจากชาติตะวันตก
ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกเพิ่มขึ้นไปแล้ว 55% ตั้งแต่ช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน โดยนักวิเคราะห์แห่ง International Grains Council คาดว่าหากสงครามยืดเยื้อออกไป หลายประเทศที่พึ่งพาข้าวสาลีราคาถูกจากยูเครนอาจประสบปัญหาขาดแคลนข้าวสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำขนมปัง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป
ปัญหาดังกล่าวอาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารต่อประชากรยากจนจำนวนมากในอียิปต์และเลบานอนที่ซึ่งรัฐบาลใช้นโยบายพยุงราคาขนมปัง ส่วนในยุโรป ราคาผลผลิตที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้ต้นทุนอาหารของปศุสัตว์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และนั่นหมายถึงราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมก็จะสูงขึ้นเช่นกัน
SEE ALSO: จีน-รัสเซีย กับมิตรภาพที่อาจสั่นคลอนเพราะสงครามในยูเครนผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก
ปัจจุบัน รัสเซียและยูเครนส่งออกข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์รวมกันเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของผลผลิตทั่วโลก นอกจากนี้ยูเครนยังเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดและน้ำมันเมล็ดทานตะวันรายใหญ่ของโลกด้วย
แอนนา มาเกอร์นีย์ ศาสตราจารย์ด้านห่วงโซ่อุปทาน โลจิสติกส์ และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมสซาชูเสตส์ วิทยาเขตแอมเฮิสต์ กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า "ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ แป้งและน้ำมันพืช มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนยากจนทั่วโลก" และว่า "เมื่อชายชาวยูเครนถูกเรียกตัวไปรบกับรัสเซีย ใครจะทำการเกษตร? ใครจะขนส่งผลผลิต?"
ทางด้าน มีเรตต์ มาบรูค นักวิชาการอาวุโสแห่งสถาบันตะวันออกกลาง (Middle East Institute) ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลอียิปต์ใช้วิธีพยุงราคาขนมปังอย่างมากเพื่อไม่ให้สูงเกินไป เพราะรู้ดีว่าหากราคาขนมปังสูงขึ้นมากจะกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคมได้ แต่ต้นทุนข้าวสาลีที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้รัฐบาลอียิปต์ประสบปัญหาในการกดราคาขนมปังไว้เช่นกัน
ขณะที่รัฐบาลเลบานอนก็กำลังหาวิธีชดเชยปัญหาขาดแคลนข้าวสาลีจากยูเครน ด้วยการหันไปหาซื้อข้าวสาลีจากแหล่งอื่นที่มีราคาแพงกว่า เช่น สหรัฐฯ และแคนาดา ในช่วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาการเงินอย่างรุนแรง
ส่วนในแอฟริกา ประชาชนในเคนยาพากันติดแฮชแท็ก #lowerfoodprices บนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อกดดันให้รัฐบาลเข้าช่วยพยุงราคาสินค้า โดยเฉพาะขนมปังที่เป็นอาหารหลัก
ทั้งนี้ ประเทศในแอฟริกานำเข้าผลผลิตการเกษตรจากรัสเซียเป็นมูลค่าราว 4,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี ค.ศ. 2020 โดย 90% เป็นข้าวสาลี
แกมโบ เซล เลขาธิการสมาคมเกษตรกรข้าวสาลีไนจีเรีย กล่าวว่า ไนจีเรียกำลังพยายามลดการพึ่งพาธัญพืชจากรัสเซียด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรไนจีเรียปลูกข้าวสาลีเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการข้าวสาลีของไนจีเรียได้ถึง 70% ภายในห้าปี
ผลกระทบต่อเอเชียและยุโรป
ผลกระทบของสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่มีต่อความมั่นคงของ "ตะกร้าขนมปังโลก" ยังส่งแรงสะเทือนไปไกลถึงอินโดนีเซีย ซึ่งใช้ข้าวสาลีในการทำขนมปัง ขนมขบเคี้ยว อาหารแห้งและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยเมื่อปีที่แล้ว อินโดนีเซียนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนในสัดส่วน 26% ของปริมาณที่บริโภคทั้งหมดในประเทศ
ขณะเดียวกัน เกษตรกรในยุโรปกำลังเป็นกังวลต่อต้นทุนอาหารปศุสัตว์ที่แพงขึ้นจากราคาข้าวโพดที่สูงขึ้นเนื่องจากยุโรปต้องนำเข้าข้าวโพดเกือบ 60% จากยูเครน ขณะเดียวกันก็นำเข้าข้าวสาลี ปุ๋ย และสินค้าเกษตรอื่น ๆ ในปริมาณมากจากรัสเซียเช่นกัน
- ที่มา: เอพี