ชาวเอเชียนอเมริกันร่วมฉลองตรุษจีน ฝ่ากระแสความเกลียดชังด้านเชื้อชาติ

Dancers wearing lion costumes perform during the Lunar Chinese New Year of the Tiger cultural celebration in the Chinatown neighborhood of Manhattan in New York City, New York, U.S., February 1, 2022. REUTERS/Mike Segar

เป็นเวลาสองปีแล้วที่ชาวเอเชียนอเมริกันและชาวหมู่เกาะแปซิฟิกในสหรัฐฯ เผชิญการถูกเหยียดเชื้อชาติทั้งทางวาจาและถูกทำร้ายร่างกาย อันเนื่องมาจากความเกลียดชังทางเชื้อชาติที่เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

ในช่วงเทศกาลตรุษจีนตลอดเดือนกุมภาพันธ์นี้ ครอบครัวชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียต่างคาดหวังว่าจะได้อยู่ฉลองกันพร้อมหน้าตามธรรมเนียม ได้รับประทานอาหารมื้อค่ำร่วมกัน และมอบอั่งเปาให้เด็กๆ มีการจัดงานขบวนพาเหรดฉลองตรุษจีนในไชน่าทาวน์ของมหานครนิวยอร์ก นครชิคาโก และนครซานฟรานซิสโก ตามรายงานของเอพี

ปีเสือที่สื่อความหมายถึงความแข็งแกร่งและกล้าหาญนี้ ยังเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเชิญชวนให้ผู้สูงอายุชาวเอเชียที่อยู่กับความหวาดหลัวกระแสเกลียดชังชาวเอเชีย ให้กล้าออกมาร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนกับชุมชนเอเชียมากขึ้น

เมื่อปีที่แล้ว งานเทศกาลตรุษจีนส่วนใหญ่ถูกลดขนาดลงเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ในปีนี้มีการกลับมาจัดงานเฉลิมฉลองกลางแจ้งอีกครั้ง โดยผู้จัดงานเชิญชวนให้ผู้ร่วมงานสวมหน้ากากและกำหนดให้เจ้าหน้าที่จัดงานต้องสวมหน้ากาก

นอกจากงานขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองแล้ว หลายเมืองในสหรัฐฯ ยังมีการจัดงานเดินขบวนเนื่องในวาระครบรอบหนึ่งปีการเสียชีวิตของนายวิชา รัตนภักดี ชายชาวไทย-อเมริกัน วัย 84 ปี ที่ถูกโจมตีขณะกำลังเดินในนครซานฟรานซิสโก

Flowers are left with a picture of 84-year-old Vicha Ratanapakdee, as hundreds of people hold a rally Sunday, Jan. 30, 2022, in San Francisco and five other U.S. cities to remember the death of 84-year-old Vicha Ratanapakdee. The grandfather from Thailand was assaulted while on a morning walk a year ago in his San Francisco neighborhood and died two days later, never regaining consciousness. (AP Photo/Janie Har)

การเสียชีวิตของนายวิชาเป็นหนึ่งในเหตุโจมตีชาวเอเชียนอเมริกันและชาวหมู่เกาะแปซิฟิกจนถึงแก่ชีวิต โดยงานครบรอบหนึ่งปีการเสียชีวิตของนายวิชานี้มีขึ้นเพียงสองสัปดาห์หลังการเสียชีวิตของมิเชลล์ อลิสซ่า โก หญิงเชื้อสายเอเชียวัย 40 ปี ที่ถูกชายสติไม่สมประกอบผลักตกรางรถไฟใต้ดินในย่านไทม์สแควร์ มหานครนิวยอร์ก จนเธอเสียชีวิต

อแมนดา เหงียน นักเคลื่อนไหว ระบุว่า ยิ่งชาวเอเชียเผชิญเหตุความรุนแรงต่อเนื่องเท่าใด ก็ยิ่งควรเฉลิมฉลองวัฒนธรรมเอเชียอย่างเปิดเผยมากขึ้นเท่านั้น โดยเธอกล่าวว่า การใช้ช่วงเวลาที่ดีกับครอบครัวและเพื่อนๆ ไม่ได้เป็นการลดทอนความสำคัญต่อเหตุรุนแรงแต่อย่างใด แต่เป็น “การโต้กลับ” ความรุนแรงที่ชัดเจนที่สุด

รัสเซลล์ จึง ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรติดตามเหตุความรุนแรงต่อชาวเอเชียนอเมริกันและชาวหมู่เกาะแปซิฟิก Stop AAPI Hate ระบุว่า ผู้สูงอายุในไชน่าทาวน์ต่างไม่กล้าออกจากย่านที่อยู่อาศัยมาสองปีแล้ว การเฉลิมฉลองเทศกาลด้วยการพาผู้สูงอายุเหล่านี้เที่ยว จับจ่ายซื้อของ รับประทานอาหาร จึงเป็นการช่วยให้พวกเขารู้สึกกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอีกครั้ง

เมื่อช่วงต้นเดือน กรมตำรวจนครซานฟรานซิสโกรายงานว่า อาชญากรรมความเกลียดชังต่อชาวเอเชียในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นถึง 567 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีค.ศ. 2020

นอกจากนี้ ข้อมูลเบื้องต้นที่รวบรวมโดยศูนย์ Center for the Study of Hate and Extremism ยังระบุว่า มีเหตุความเกลียดชังต่อชาวเอเชียสูงขึ้นเป็นสถิติใหม่ในนครลอสแอนเจลิสและมหานครนิวยอร์ก โดยรัฐจอร์เจียมีผู้เสียชีวิตจากเหตุในลักษณะดังกล่าวมากที่สุด หลังเกิดเหตุกราดยิงที่ร้านสปาในนครแอตแลนตาเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เป็นเหตุให้หญิงเชื้อสายเอเชียหกคนเสียชีวิต

ศูนย์ Center for the Study of Hate and Extremism ยังรายงานโดยอ้างตัวเลขเบื้องต้นจากทางตำรวจว่า อาชญากรรมความเกลียดชังต่อชาวเอเชียทั่วสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 339 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว เทียบกับ 124 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีค.ศ. 2020 โดยมีผู้เห็นว่า แนวโน้มความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่าทีของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสที่พบครั้งแรกในจีน

เหงียน ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านความรุนแรง ยังผลักดันให้มีการเพิ่มการสอนประวัติศาสตร์ชาวเอเชียนอเมริกันและชาวหมู่เกาะแปซิฟิกในชั้นเรียนระดับประถมและมัธยมเพิ่มเติม โดยเธอหวังว่า การเพิ่มการศึกษาจะช่วยเปลี่ยนแนวโน้มการปฏิบัติต่อกลุ่มเชื้อชาติดังกล่าวในอนาคตได้

  • ที่มา: เอพี