พบฟอสซิลไก่งวงยักษ์ 'บินได้ - ตัวใหญ่เท่าจิงโจ้' ในออสเตรเลีย

Your browser doesn’t support HTML5

พบฟอสซิลไก่งวงยักษ์

ทีมวิจัยออสเตรเลียเผยการวิเคราะห์ฟอสซิลสัตว์ปีกขนาดยักษ์ 5 ชนิดที่เคยอพยพเข้ามาในออสเตรเลียเมื่อ 3 ล้านปีที่แล้ว หนึ่งในนั้น คือ ไก่งวงยักษ์ยุคดึกดำบรรพ์ที่มีขนาดเท่าจิงโจ้และสามารถบินได้ ท้าทายทฤษฎีของนักบรรพชีวินวิทยา ที่ระบุว่า สัตว์ในยุคปัจจุบัน คือ วิวัฒนาการของสัตว์ยุคโบราณ

คณะวิจัยของมหาวิทยาลัย Flinders ของออสเตรเลีย นำฟอสซิลสัตว์ปีกในออสเตรเลียที่ถูกพบมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1880 จนถึงปี 2011 นำมาวิเคราะห์ใหม่ และพบว่าเป็นฟอสซิลของสัตว์ปีกยุคดึกดำบรรพ์ หรือ Megapodes มากถึง 5 ชนิดด้วยกัน

giant turkey

การค้นพบล่าสุดนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Royal Society Open Science ซึ่งจำแนกสัตว์ปีกดึกดำบรรพ์ทั้ง 5 ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ไก่งวงตัวสูง ที่มีขายาวเพรียว กับ ไก่ตัวป้อม ขาสั้นและลำตัวป้อมกว่า

หนึ่งในสายพันธุ์ที่น่าสนใจ นั่นคือ ไก่งวงยักษ์ สัตว์ปีก 1 ใน 5 สายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปในยุคไพลโอซีน ยุคเริ่มต้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ เมื่อราว 5.3 ถึง 2.6 ล้านปีมาแล้ว พวกมันอพยพเข้ามาในออสเตรเลีย เมื่อราว 3 ล้านปีก่อน

เมื่อจำลองภาพตามขนาดฟอสซิลที่พบนั้น มีความสูงเท่ากับจิงโจ้ในยุคปัจจุบัน มีน้ำหนักตัวราว 18 ปอนด์ หรือราว 8 กิโลกรัม ซึ่งใหญ่เป็น 4 เท่าตัวของไก่งวงในยุคปัจจุบัน

กระดูกของไก่งวงยักษ์ยุคไพลโอซีน เมื่อเทียบกับไก่งวงยุคปัจจุบัน

​เอเลน ชูท นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Flinders บอกว่า ไก่งวงยักษ์ยุคไพลโอซีน มีศักยภาพที่ไก่งวงรุ่นนี้ทำไม่ได้ นั่นคือ สยายปีกโบยบิน เพราะฟอสซิลของสัตว์ปีกโบราณทั้ง 5 สายพันธุ์ มีโครงกระดูกสันอกและปีกที่แข็งแรงเพียงพอกับการบินไปเกาะต้นไม้ หรือใช้ในการหลบหลีกสัตว์นักล่าในยุคนั้น แตกต่างจากไก่งวงปัจจุบันที่ทำรังบนพื้นดิน

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Flinders ยังเปิดเผยด้วยว่า ครึ่งหนึ่งของสัตว์ปีกยุคดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบนี้สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ในยุคไพลโอซีน ที่สำคัญยังพบหลักฐานที่เชื่อว่าสัตว์เหล่านี้อยู่ในยุคของชนเผ่าอะบอริจิ้นของออสเตรเลีย จากฟอสซิลล่าสุดที่มีอายุราว 5 หมื่นปีที่แล้วด้วย