ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทึ่ง! นักวิทยาศาสตร์จุดประกายความหวังขยายพันธุ์ปะการังด้วย 'การผสมเทียมในหลอดเเก้ว'


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:18 0:00

แนวปะการังมีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งเป็นแหล่งที่อยู่ของปลา 1 ใน 4 ของปลาทะเลทั้งหมด ช่วยปกป้องเเนวชายฝั่งจากพายุ และเป็นโลกใต้ท้องทะเลที่สวยงามตระการตาสำหรับนักดำน้ำดูปลา

Bart Shepherd ผู้อำนวยการเเห่ง Steinhart Aquarium ที่California Academy of Sciences ใน San Francisco กล่าวว่า "แนวปะการังใต้ทะเลเป็นสถานที่ที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกนี้ เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ใต้ทะเลต่างชนิดที่ต้องเรียนรู้ที่จะอาศัยในพื้นที่เดียวกัน ต้องเเย่งพื้นที่อยู่อาศัย อาหารและเเสงอาทิตย์ที่สาดส่องลงไปใต้ทะเล"

เเต่ Bart Shepherd กล่าวว่าแนวปะการังใต้ทะเลทั่วโลกกำลังประสบกับการคุกคามจากจากกิจกรรมของมนุษย์ ภาวะน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น และน้ำทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น

บรรดานักวิทยาศาสตร์ทางทะเลได้ทดลองใช้วิธีการหลายอย่างด้วยกันในการช่วยเพิ่มจำนวนปะการังเพื่อทดแทนที่เสียหายไป และวิธีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือการเร่งการขยายพันธุ์เทียมด้วยการหักกิ่งให้เเตกรากใหม่เเละเติบโต ก่อนจะนำกลับไปปลูกในเเนวปะการังอีก

แต่วิธีขยายพันธุ์เทียมเเบบนี้ลดความหลากหลายทางพันธุกรรมและความทนทานของปะการังลง

ขณะนี้ โครงการกอบกู้เเนวปะการังทั่วโลก "Hope for Reefs" ได้หันไปใช้วิธีใหม่ที่คิดค้นโดยกลุ่มอนุรักษ์ปะการัง Secore International ที่ใช้เทคโนโลยีการผสมพันธุ์ในหลอดเเก้วมาใช้กอบกู้แนวปะการังที่กำลังตายลง

Shepherd กล่าวว่านักวิทยาศาสตร์สามารถเก็บไข่เเละสเปิร์มของปะการังมาเพื่อผสมพันธุ์ในหลอดเเก้วในห้องทดลอง เเละเลี้ยงตัวอ่อนปะการังให้โตระยะหนึ่งก่อนจะนำลูกปะการังไปปลูกในเเนวปะการังเดิม

เขากล่าวว่า ในระยะเวลาห้าปี ลูกปะการังที่ผสมพันธุ์ในหลอดเเก้ว จะโตเเละผสมพันธุ์กับปะการังในธรรมชาติ

ปะการังจะปล่อยไข่และสเปิร์มออกมาเพียงปีละครั้งเท่านั้นในช่วงพระจันทร์เต็มดวง โดยในช่วงระยะเวลาไม่กี่คืน ปะการังจะปล่อยไข่เเละสเปิร์มออกมาจำนวนหลายล้าน เเละจะลอยไปตามผิวน้ำเเละปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนปะการังตามธรรมชาติ

แต่ Shepherd ผู้เชี่ยวชาญอเมริกันกล่าวว่า กว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของเซลล์เพศของปะการังไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน

ทีมงานพบว่าจุดที่มีไข่เเละสเปิร์มปะการังมากที่สุด เป็นจุดที่มีปลามาหากินมากที่สุด ทีมงานจึงใช้ตาข่ายคลุมด้านบนของปะการังเพื่อดักจับไข่เเละสเปิร์มของปะการังที่ปล่อยออกมา แล้วนำกลับมาที่ห้องทดลองเพื่อผสมข้ามพันธุ์กัน

โครงการ Hope for Reefs ไม่ได้ยุติเเค่การกอบกู้ปะการังเท่านั้น Bart Shepherd ผู้อำนวยการเเห่ง Steinhart Aquarium ที่ California Academy of Sciences ใน San Francisco กล่าวว่า "การเผยเเพร่ความรู้แก่รัฐบาลท้องถิ่นเเละชุมชนให้ช่วยกันอนุรักษ์ปะการังเป็นกุญเเจสำคัญของความสำเร็จของโครงการนี้เเละเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก"

เขากล่าวว่าโครงการนี้ต้องการความร่วมมือจากชุมชนในการจัดการเเนวปะการัง ตรวจตราเอาใจใส่สุขภาพของปะการัง เเละหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้น ชุมชนจะช่วยดูเเลแลควบคุมสภาพเเวดล้อมไม่ให้เกิดมลพิษ ควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงทะเล ลดการสั่งสมของโคลนตมใต้ทะเล ลดการประมงที่เกินพอดี

และต้องมีการจัดทำเเนวทางจัดการแนวปะการังเเบบองค์รวมขึ้นมา เพื่อให้โครงการขยายพันธุ์และอนุรักษ์ปะการังนี้ประสบความสำเร็จ



(รายงานโดย Jan Sluizer / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)

XS
SM
MD
LG