ออสเตรเลีย
เมื่อวันที่ 16 กันยายน ออสเตรเลียระบุว่าจะสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์อย่างน้อยแปดลำ ภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิคกับสหรัฐฯ และอังกฤษ หรือข้อตกลง AUKUS
นอกจากนี้ ออสเตรเลียจะพัฒนาขีปนาวุธโทมาฮอว์กแบบขับเคลื่อนด้วยตัวเองบนเรือพิฆาตให้ยิงได้ในระยะไกลขึ้น รวมถึงพัฒนาขีปนาวุธอากาศสู่พื้นที่ติดตั้งบนเครื่องบินไอพ่น F/A-18 Hornet และเครื่องบินไอพ่น F-35A Lightning II ให้โจมตีเป้าหมายในระยะ 900 กิโลเมตรได้
ออสเตรเลียยังมีแผนติดตั้งจรวดร่อนโจมตีภาคพื้นระยะไกลบนเครื่องบินไอพ่น F/A-18F Super Hornet รวมถึงติดถั้งขีปนาวุธนำวิถีแบบโจมตีแม่นยำ ที่สามารถทำลายเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปกว่า 400 กิโลเมตรได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กองกำลังภาคพื้นดิน
ภายใต้ข้อตกลง AUKUS ออสเตรเลียจะร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาขีปนาวุธแบบเร็วเหนือเสียงด้วย
เมื่อเดือนมิถุนายน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อนุมัติขายเฮลิคอปเตอร์ Boeing AH-64 Apache จำนวน 29 ลำ มูลค่าไม่เกิน 3,500 ล้านดอลลาร์ ให้ออสเตรเลีย
ไต้หวัน
เมื่อวันที่ 17 กันยายน ไต้หวันประกาศแผนพัฒนาประสิทธิภาพอาวุธเป็นเวลา 5 ปี มูลค่า 8,690 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะมีการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลและขีปนาวุธขับเคลื่อนด้วยตัวเองด้วย
โครงการดังกล่าวจะมีการจัดหาขีปนาวุธใหม่ โดยสื่อไต้หวันรายงานว่า ขีปนาวุธใหม่นี้อาจมีระยะยิงถึง 1,200 กิโลเมตร
เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติขายระบบขีปนาวุธฮาร์พูนแบบป้องกันชายฝั่ง 100 ลูก ระบบอาวุธที่ประกอบด้วยขีปนาวุธ เครื่องตรวจจับ และปืนใหญ่ จำนวนสามระบบ และโดรนระดับสูงสี่ลำ ให้แก่ไต้หวัน โดยอาวุธทั้งหมดมีมูลค่ารวมราว 5,000 ล้านดอลลาร์
เมื่อเดือนที่แล้ว สหรัฐฯ อนุมัติขายระบบอาวุธปืนครก 40 ระบบให้ไต้หวัน มูลค่าไม่เกิน 750 ล้านดอลลาร์
เกาหลีใต้
เมื่อวันที่ 15 กันยายน เกาหลีใต้ทดสอบขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกลติดเรือดำน้ำสำเร็จ ทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกที่ไม่มีนิวเคลียร์และสามารถพัฒนาระบบอาวุธดังกล่าวได้
ทั้งนี้ คาดว่าขีปนาวุธดังกล่าวเป็นอาวุธที่ต่อยอดมาจากขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกล Hyunmoo-2B ซึ่งเป็นขีปนาวุธภาคพื้นดิน และมีระยะยิงราว 500 กิโลเมตร
เมื่อปีที่แล้ว เกาหลีใต้พัฒนาขีปนาวุธ Hyunmoo-4 ซึ่งสามารถยิงได้ในระยะ 800 กิโลเมตร และติดตั้งหัวรบหนักสองตันได้
เกาหลีใต้ยังเปิดตัวขีปนาวุธใหม่อื่นๆ รวมทั้งขีปนาวุธขับเคลื่อนด้วยตัวเองแบบเร็วเหนือเสียง และตั้งเป้าพัฒนาเครื่องยนต์จรวดแบบใช้เชื้อเพลิงแข็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาดาวเทียมสอดแนมที่เตรียมเปิดตัวในช่วงปลายทศวรรษที่ 2020s นี้ และในเดือนกรกฎาคม เกาหลีใต้ยังทดสอบการยิงสำเร็จสำเร็จอีกด้วย
กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ระบุในแผนเมื่อปีที่แล้วว่า ทางกระทรวงยื่นเรื่องขอสร้างเรือดำน้ำสามลำ โดยทางการเกาหลีใต้ระบุว่า เรือดำน้ำสองในสาม ที่มีความจุเครื่องยนต์ 3,000 ตันและ 3,600 ตัน จะขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล แต่ไม่ได้ระบุว่าเรือดำน้ำอีกลำที่มีความจุเครื่องยนต์ 4,000 ตัน จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานชนิดใด
การสร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในคำมั่นระหว่างหาเสียงของประธานาธิบดีมุน แจ อิน อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ดำรงเขาดำรงตำแหน่งเมื่อปีค.ศ. 2017 ผู้นำเกาหลีใต้ก็ไม่เคยประกาศสร้างเรือดำน้ำดังกล่าวอย่างเป็นทางการ
เกาหลีเหนือ
เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2019 สื่อทางการเกาหลีเหนือเผยแพร่ภาพนายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุด ตรวจตราเรือดำน้ำใหม่ขนาดใหญ่ แม้เกาหลีเหนือจะไม่ได้ระบุว่าเรือดำน้ำนี้ติดอาวุธประเภทใด แต่นักวิเคราะห์ก็ระบุว่า เรือดำน้ำที่มีขนาดใหญ่นี้ถูกออกแบบมาเพื่อบรรทุกขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกล
ปลายปีค.ศ. 2019 เกาหลีเหนือระบุว่า สามารถทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำชนิดใหม่จากทะเลได้สำเร็จ ต่อเมื่อในเดือนมกราคม เกาหลีเหนือเผยแพร่ภาพขีปนาวุธชนิดใหม่นี้ระหว่างการเดินสวนสนามของกองทัพในกรุงเปียงยาง
ในเดือนกันยายนนี้ สื่อทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า เกาหลีเหนือทดสอบระบบยิงขีปนาวุธจากขบวนรถไฟได้แล้ว
จีน
จีนผลิตขีปนาวุธ DF-26 ซึ่งเป็นอาวุธที่สามารถนำปรับใช้ได้หลายรูปแบบและสามารถประกอบหัวรบนิวเคลียร์ได้ และมีพิสัยยิงในระยะไม่เกิน 4,000 กิโลเมตร
จีนเปิดตัวอากาศยานไร้คนขับแบบใหม่ระหว่างการเดินขบวนกองทัพเมื่อปีค.ศ. 2019 และจัดแสดงขีปนาวุธแบบข้ามทวีปและความเร็วเหนือเสียง ที่ถูกออกแบบเพื่อโจมตีเรือบรรทุกอากาศยานและฐานทัพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความมันคงทางการทหารของสหรัฐฯ ในเอเชีย
ขีปนาวุธแบบเร็วเหนือเสียง DF-17 ของจีนถูกออกแบบให้เคลื่อนตัวได้เร็วกว่าเสียงหลายเท่า ทำให้ยากต่อการรับมือ นอกจากนี้ จีนยังมีขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกลข้ามทวีป ซึ่งหากติดตั้งหัวรบหลายหัวแล้ว สามารถยิงไปได้ไกลถึงสหรัฐฯ
ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นทุ่มงบหลายล้านดอลลาร์ไปกับอาวุธพิสัยไกลที่ยิงจากอากาศ และกำลังพัฒนาขีปนาวุธ Type 12 ซึ่งเป็นขีปนาวุธต่อต้านเรือติดรถบรรทุกที่คาดว่ามีวิถียิงในระยะ 1,000 กิโลเมตร
เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อนุมัติข้อตกลงขายเครื่องบินไอพ่นขับไล่ Lockheed F-35 ด้วยมูลค่าราว 23,000 ล้านดอลลาร์
(ที่มา: Reuters)