นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับวีโอเอไทยระหว่างเดินทางเยือนสหรัฐฯ ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 28 กันยายน ในประเด็นต่างๆ อาทิ ความร่วมมือด้านวัคซีนและด้านการแพทย์ที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 กับต่างประเทศ ท่าทีต่อสถานการณ์ในเมียนมา ประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และท่าทีของไทยต่อการสมัครร่วมความตกลง ภาคีความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ของจีน
พบปะ พ.ท.หญิงลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เชื้อสายไทย จากรัฐอิลลินอยส์
วีโอเอ ไทย ถาม : ในการพูดคุยกับ ส.ว. แทมมี ดักเวิร์ธ มีการพูดคุยถึงความคืบหน้าในการรับบริจาควัคซีนจากสหรัฐฯ อย่างไรบ้าง?
การพบปะกับ พ.ท.หญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เป็นการนัดหมายล่วงหน้าที่ไม่ได้เจาะจงที่จะพูดคุยประเด็นเกี่ยวกับวัคซีนเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อเยี่ยมเยือนในฐานะคุ้นเคยกันสมัยที่ผมเคยดำรงตำแหน่งทูตฯ ที่นี่ และคุณแทมมี เป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึก และขณะนี้คุณแทมมีก็ได้เป็น ส.ว.ซึ่งก็มีบทบาทมากขึ้น
แต่ในที่สุด ก็ได้คุยกันถึงการที่คุณแทมมีได้ติดตามให้มีการบริจาควัคซีนหนึ่งล้านโดส ซึ่งเป็นประเด็นที่สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการเรื่องนี้
โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ มีการเรียกประชุมในวันที่ 29 กันยายน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นกระบวนการติดต่อส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศไทย ซึ่งเรารับรู้ว่าเป็นกระบวนการใหม่ที่จะช่วยทำให้หนึ่งล้านโดสเกิดขึ้นได้จริง
“หลังพบกับคุณแทมมี่ เราก็ไปพบกับทางสภาความมั่นคง ทางเราก็ทราบว่าทางสหรัฐฯยังไม่ได้ดำเนินการก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นนั่นจึงเป็นปัญหาภายในของสหรัฐฯ แต่บัดนี้ตกลงแล้วว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง.. .
..โดยปกติแล้ว การพิจารณาบริจาควัคซีนของสหรัฐฯ นั้น ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ที่ดูแลด้านวัคซีน จะประชุมร่วมกันเพื่อตัดสินใจดำเนินการบริจาควัคซีนให้ประเทศต่างๆ ซึ่งกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์อาจได้วัคซีนเร็ว แต่สำหรับกลุ่มประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการแวกซ์ก็อาจได้ช้าลงมา..
..อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะไม่ได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ แต่ก็เคยได้รับบริจาควัคซีนจากสหรัฐฯ มาแล้ว เพราะฉะนั้นคาดว่าไทยจะได้รับวัคซีนล็อตที่สองจากสหรัฐฯ เร็ว"
พบปะเวทีโลก “ทุกเวทีคุยแต่เรื่องวัคซีนโควิด”
วีโอเอ ไทย ถาม : ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 76 ที่มหานครนิวยอร์ก ได้มีการหารือกับประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับการรับบริจาควัคซีน รวมถึงการรับความช่วยเหลือหรือความร่วมมือด้านการแพทย์ที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 อย่างไรบ้าง?
“ในการประชุมสหประชาชาติเรียกได้ว่าทุกเวทีจะมีการพูดถึงในประเด็นของโรคโควิด-19 ในรูปแบบต่างๆ โดยความสนใจจะอยู่ที่วัคซีนเป็นสำคัญ ประเทศผู้ผลิตวัคซีนมีเพียงไม่กี่ประเทศในขณะที่นานาประเทศต้องการวัคซีน นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้วัคซีนขาดแคลน ประกอบกับการมีเชื้อไวรัสกลายพันธุ์อย่างสายพันธุ์เดลต้า ทำให้อัตราการระบาดเร็วขึ้นกว่าปีที่แล้ว หลายประเทศยอมรับว่า การขาดแคลนวัคซีนและการที่วัคซีนเป็นที่ต้องการของทุกประเทศทั่วโลกนั้น ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่คาดการณ์ไว้..
..ในเวทีสหประชาชาติ ทุกประเทศพูดถึงเรื่องของการทำอย่างไรให้ได้วัคซีนมากขึ้น ในการหารือสองฝ่ายมีหลายประเทศที่ขอวัคซีนจากไทย ซึ่งเราก็เคยแสดงท่าทีนี้กับมิตรประเทศของเรา เพราะในช่วงที่เราเริ่มรู้ว่าต้องการวัคซีนเมื่อช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม
“ เราก็เริ่มติดต่อหลายประเทศและแจ้งว่า เราต้องการรับบริจาควัคซีน แต่ถ้าเป็นวัคซีนชนิดที่เราผลิตเองและเขามีอยู่ เราก็พร้อมที่จะคืนวัคซีนให้ภายหลัง หรือไม่เราก็ยินดีซื้อ นี่คือสามแนวทางที่เราใช้ในการเจรจาจัดหาวัคซีนกับประเทศต่างๆ..”
เจรจาแสวงหาวัคซีนจากยุโรปเพิ่ม
นอกจากวัคซีนที่ได้รับมาจากต่างประเทศ คือ ญี่ปุ่น ภูฏาน สิงคโปร์ ฯลฯ ก็ไปได้ข้อมูลและมีการหารือกัน ก็คือกลุ่มประเทศในยุโรป เพราะว่าเขาได้ใช้วัคซีนในจำนวนพอเหมาะพอควรกับความต้องการในประเทศแล้ว และมีวัคซีนเหลือที่จะดำเนินการทั้ง 3 แนวทางอย่างที่ว่า โดยการ ให้ (บริจาค) หรือ ให้ยืม หรือไม่ก็ขาย เราก็กำลังติดต่อ เชื่อว่าอีกไม่นาน เราก็จะมีวัคซีนอีกจำนวนไม่น้อยที่จะเข้ามาจากยุโรป บนพื้นฐานดังกล่าว
“.. ส่วนการทำข้อตกลง (ดีลในยุโรป) เราก็กำลังดำเนินอยู่ และเมื่อตกลงกันเรียบร้อง ก็จะเป็นเรื่องของการทำสัญญา และการจัดส่ง แต่รับรู้ว่าในหลายๆประเทศเขามีวัคซีนที่เหลือ และต้องการขายเพื่อคืนทุน แต่บางแห่งก็อาจจะไม่ได้ต้องการขาย แต่ให้เปล่าก็มี..
"การดำเนินการเรื่องวัคซีนของทูตไทยในหลายประเทศ เพื่อสอบถามไปยังแหล่งข้อมูล หรือ รัฐบาลประเทศต่างๆ บางครั้งอาจได้คำตอบว่า (ประเทศคู่เจรจา) เขาไม่ขาย แต่บางครั้งเขาเปลี่ยนใจทีหลัง (ตัดสินใจขาย) ก็มีหลายราย บางครั้งเขาอาจจะบอกว่า ไม่คิดจะทำอะไรกับวัคซีนที่มีอยู่ เพราะเขาก็ต้องคอยดูสภาวะ (ภายในประเทศ) ที่จะปรับเปลี่ยนแปลง บางครั้งเขาก็วางแผนเผื่อจัดจำหน่ายวัคซีนได้”
หลายชาติสนใจ ขอร่วมมือกับไทย ผลิตวัคซีนและเวชภัณฑ์ต้านโควิด-19
นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยในประเด็นความร่วมมือในการผลิตวัคซีน กับนานาชาติ ซึ่งไทยได้รับความสนใจจากหลายชาติที่จะขอให้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนร่วมกัน
“..ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสามารถในการผลิตวัคซีน เช่น การตั้งโรงงานผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาในไทย แม้อังกฤษจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของวัคซีนก็ตาม แต่การตั้งโรงงานย่อมทำให้เรามีประสบการณ์การรับรู้ว่า เรามีกำลังความสามารถในแง่ของการนำเชื้อวัคซีน มาผสม จัดการ จนเกิดผลผลิตสุดท้ายออกมา..
..อีกประการหนึ่งคือ เรามีโรงงานวัคซีนในประเทศที่วิจัยและพัฒนาเองอย่างน้อยสี่โครงการ แต่มีสองโครงการแรกที่กำลังจะผลิตวัคซีนเพิ่มได้ในต้นปีหน้า คือวัคซีน ChulaCov19 ซึ่งเป็นวัคซีน mRNA ชนิดหนึ่ง และวัคซีนประเภทโปรตีนซับยูนิต จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
ทั้งนี้ ประสบการณ์ความรู้วัคซีนของไทยที่มีเพิ่มขึ้น ทำให้หลายประเทศรับรู้ว่าเรามีความพร้อมในเรื่องวัคซีนระดับหนึ่งและติดต่อไทยให้เป็นผู้ร่วมผลิตวัคซีน
นอกจากนี้ ไทยยังได้หารือเรื่องยากับหลายประเทศ โดยไทยมียาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่สามารถใช้บรรเทาอาการของโรคโควิด-19 ได้ในระยะแรกเริ่มตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ทางกระทรวงการต่างประเทศเองก็มีการส่งฟ้าทะลายโจรไปยังสถานทูตไทยหลายแห่งในยุโรป เพื่อแจกจ่ายให้เจ้าหน้าที่สถานทูตและชุมชนชาวไทย
หารือสหรัฐฯ มองหาความร่วมมือผลิตวัคซีนร่วมในไทย
หนึ่งในหัวข้อระหว่างการพบหารือกับ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นั้น มีการพูดคุยกันเรื่องความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านสาธารณสุข ในการผลิตเวชภัณฑ์ และวัคซีน ต่อต้านโควิด-19 ในไทย
“ เพราะว่าสหรัฐฯเองก็ต้องการแหล่งผลิตใหม่ เพื่อกระจายวัคซีน ก็มีการถาม หารือถึงความร่วมมือเรื่องนี้ สหรัฐฯ เป็นที่ตั้งของประเทศที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์วัคซีน ในขณะที่ไทยมีความพร้อมพื้นฐานในการผลิตวัคซีน..
“..เมื่อวิจัยพัฒนากันมาถึงจุดหนึ่งมันก็ต้องผลิต ไม่ใช่ว่าจะหยุดอยู่แค่นั้น เพราะฉะนั้นขณะนี้ ประเทศที่เป็นเจ้าของวัคซีนต่างก็กำลังหาแหล่งผลิต หรือปรับปรุงสถานที่และห้องปฏิบัติการให้ดีขึ้นพอเป็นแหล่งผลิตได้..ในมุมนี้มีการดำเนินการกับสหรัฐฯอยู่..”
แสดงจุดยืนของ ‘ไทย’ ค้านประณาม ‘เมียนมา’ ระบุ ทุกฝ่ายต้องหารือในสภาวะสันติเพื่อหาทางออก – เผยทูตพิเศษเตรียมเยือนเมียนมาอีกครั้งเดือน ต.ค.
วีโอเอ ไทย ถาม : ในที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน - สหรัฐฯ มีการหารือถึงความพยายามระดับภูมิภาคต่อสถานการณ์ในเมียนมาอย่างไรบ้าง สหรัฐฯ คาดหวังบทบาทใดจากไทยต่อจากนี้บ้าง
“สหรัฐฯ มีความมั่นใจต่อไทยมากในประเด็นเมียนมา จากพื้นฐานว่าไทยและเมียนมามีชายแดนติดต่อกันยาวและมีเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดน ในขณะที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ ไม่ได้มีจุดสัมผัสกับเมียนมาเช่นนี้
เมื่อประเมินจากที่ตั้ง ประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ จึงได้ข้อสรุปว่า ในประเด็นของเมียนมาต้องมีการอาศัยไทยในหลายแง่มุม เมื่อคำนึงถึงที่ตั้งของไทย เรายังเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเมียนมาด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาได้สะดวกที่สุด นอกจากนี้ ไทยยังมีประสบการณ์ในการรับมือกับผู้พลัดถิ่นจากเมียนมาจำนวนมากมานานหลายสิบปี..
แต่ละประเทศมีทัศนะต่อเมียนมาต่างกัน บางประเทศเรียกร้องชัดเจนว่าต้องมีการคืนอำนาจทันทีหลังรัฐประหาร ต้องมีการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทันที แต่ในความเป็นจริง การคืนอำนาจทันทีหลังรัฐประหารมันไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลกอยู่แล้ว ในขณะที่อีกหลายประเทศมองว่าต้องมีการหารือในสภาวะสันติเพื่อหาทางออก ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เป็นวิธีที่ทุกฝ่ายจะชนะ"
ไทยดำเนินนโยบายเมียนมาโดยคำนึงถึงความสมดุลของสถานการณ์ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การที่ไทยงดออกเสียง (ในมติว่าด้วยการระงับการขายอาวุธให้เมียนมาในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อเดือนมิถุนายน) นั้น ต้องอธิบายว่า
“..มติดังกล่าวเน้นการประณาม การหาทางออกอย่างรวบรัด ซึ่งเราเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ เราจึงงดออกเสียง.. เราเชื่อในการสร้างความมั่นใจระหว่างกันเพื่อนำไปสู่การหารือกันอย่างจริงจัง เราต้องคำนึงถึงท่าทีของทุกฝ่ายให้ลงตัว ไม่อยากเห็นว่าต้องลงแส้กันหรือประณามกันอย่างเดียว ต้องให้โอกาสทุกฝ่ายพบปะพูดคุยกัน..”
นอกจากนี้ ไทยยังพยายามส่งเสริมทูตพิเศษด้านเมียนมาให้ประสบความสำเร็จ โดยขณะนี้ทูตพิเศษมีกำหนดการเดินทางไปยังเมียนมาอีกครั้งภายในเดือนตุลาคมนี้เพื่อพูดคุยกับทุกฝ่าย
วีโอเอ ไทย ถาม: สหรัฐฯ คาดหวังบทบาทของไทยอย่างไรในฐานะที่เป็นทั้งเพื่อนบ้านเมียนมา ประเทศสมาชิกอาเซียน และเป็นประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯ เองมีท่าทีประณามรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างชัดเจน?
ในการหารือกับนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีการหารือในข้อกังวลของสหรัฐฯเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาด้วย โดยไทยได้แสดงจุดยืนดังนี้
“ (สหรัฐฯ) ทราบว่า ไม่สามารถไปกดดันหรือใช้กำลังกับประเด็นนี้ได้ ในแง่ของการหาทางออก เขาเห็นด้วยเสมอว่า ถ้าต้องการกระบวนการประชาธิปไตยก็ต้องมีความมั่นคง ความมีเสถียรภาพในประเทศ เพื่อเดินหน้าสู่ปลายทางที่เป็นประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ไม่ใช่การต่อสู้แบบสงครามเย็น ทุกฝ่ายรู้ว่าการใช้กำลังไม่ใช่ทางออก..”
วีโอเอ ไทย ถาม : ไทยมีความเห็นอย่างไรต่อข้อตกลงความมั่นคง AUKUS ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า อาจเป็นการเพิ่มการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มประเทศตะวันตกและจีนด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก?
“ดอน” เผย ไทยต้องการเห็นเอเชียแปซิฟิกสงบสุข หลังสหรัฐฯ-ออสเตรเลีย-อังกฤษ ทำข้อตกลงความมั่นคงครั้งประวัติศาสตร์
“.. ไทยอยากเห็นภูมิภาคนี้สงบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคโควิดและหลังโควิด มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีบรรยากาศสันติสุขหรือความสงบสุข ทุกประเทศต้องฟื้นฟูตนเองจากความเสียหายที่ใหญ่หลวงในประเทศ ซึ่งจะเกิดไม่ได้เลยหากไม่มีบรรยากาศของความสงบ ประเทศใหญ่ควรร่วมมือหรือสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความสงบนี้
แม้ธรรมชาติของมนุษย์ เราจะพยายามประหัตประหารกันทุกยุคทุกสมัยก็ตาม แต่เราก็พยายามบอกกับทุกฝ่ายว่า (การเผชิญหน้ากัน) อาจต้องไปทำในโอกาสอื่นๆ ในช่วงเวลานี้ (ความสงบสุข) เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย จะได้เกิดบรรยากาศที่เป็นมิตรและสร้างสรรค์ ในวงกว้างขึ้นและเอื้ออำนวยให้เกิดการเดินทาง การค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น"
จุดยืนสันติวิธี และเป็นมิตร เห็นพ้องร่วมกับหลายประเทศในภูมิภาค
ทุกประเทศจะมีท่าทีในลักษณะนี้ ไม่ใช่แค่มาเลเซียและอินโดนีเซีย ทุกประเทศต่างต้องการเห็นความรู้สึกที่เป็นมิตรมากขึ้น สิ่งใดก็ตามที่ลดความตึงเครียดลงได้ จะช่วยเอื้ออำนวยให้นานาประเทศพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ต่อไปได้ และมองว่าอาเซียนสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกล่างระหว่างสองฝั่งอำนาจนี้ได้
วีโอเอ ไทย ถาม: การสมัครเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ของจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จะมีผลต่อการตัดสินใจของไทยในการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
“ดอน” เผย ไทยยังมีความพร้อมที่จะเจรจา CPTPP
ผมคิดว่าไทยดูรายละเอียดเพียงพอที่จะเชื่อว่าผ่านไปถึงจุดเริ่มเจรจาได้ แม้การเจรจาอาจเผชิญปัญหา ก้าวต่อไปไม่ได้ แต่หากเราไม่เริ่มคิดจะเข้าไปเจรจาก็แปลกเหมือนกัน
ระหว่างการหารือกับพันโทหญิงลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ ก็มัการหารือถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งสหรัฐฯ เคยเป็นหนึ่งในประเทศริเริ่มแต่ถอนตัวออกไป เรารอรับฟังว่าสหรัฐฯ จะมีพัฒนาการอย่างไรต่อประเด็นนี้ ผมในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สนใจติดตามอยู่ว่าใครจะเข้ามาใหม่
ความตกลงการค้าเสรีนี้เป็นความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนที่สำคัญ ตอนนี้เปิดกว้างมากขึ้น ประเทศต่างๆ ทั้งไทย อังกฤษ และไต้หวัน ต่างสนใจเจรจาด้วย
วีโอเอ ไทย ถาม : ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งนี้ ประเทศต่างๆ ได้สอบถามถึงสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันหรือไม่ ทางไทยได้อธิบายถึงประเด็นดังกล่าวต่อต่างชาติอย่างไรบ้าง
ไม่มีใครมาถามเลย ทุกประเทศสนใจแต่เรื่องวัคซีน แต่ละประเทศมีปัญหาของเขาเอง ณ วันนี้ไม่มีใครห่วงเรื่องใดนอกจากเรื่องของตน