ตั้งเเต่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ประกาศว่าเชื้อไวรัส Zika ที่มียุงเป็นพาหะ เป็นปัญหาฉุกเฉินทางสาธารณสุข บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบหลักฐานที่ว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นสาเหตุของอาการอัมพาตและสมองอักเสบในผู้ใหญ่
แต่เชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นอันตรายมากที่สุดต่อตัวอ่อนทารกในครรภ์!
การศึกษาชิ้นหนึ่งที่วิทยาลัยการแพทย์ Johns Hopkins ในเมืองบัลติมอร์ ชี้ว่าเชื้อไวรัส Zika ทำให้เกิดอาการอักเสบและทำลายเซลล์ทุกตัวที่จะเติบโตเเละพัฒนาเป็นสมองของตัวอ่อนทารก
ผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาผู้หญิงตั้งครรภ์ในบราซิลชี้ว่า เกิดความผิดปกติในอย่างน้อย 29 เปอร์เซ็นต์ของทารกที่มารดาติดเชื้อ Zika ที่ได้รับการตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์
ด็อกเตอร์ แอนโธนี่ เฟาชี่ แห่งสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ ชี้ว่าตัวเลขนี้น่าตกใจ ด็อกเตอร์เฟาชี่กล่าวว่าน่าจะมีความผิดปกติอื่นๆในตัวอ่อนทารกอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถตรวจพบด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์ ดังนั้นจึงเชื่อว่าผลกระทบจากการติดเชื้อไวรัส Zika ต่อตัวอ่อนทารกจึงน่าจะสูงกว่าแค่ 29 เปอร์เซ็นต์
ความผิดปกติที่ไม่สามารถตรวจพบได้โดยการตรวจอัลตร้าซาวด์ที่ว่าเหล่านี้ อาจรวมถึง ความผิดปกติทางสายตา หูหนวก ระดับความเฉลียวฉลาดต่ำ และความผิดปกติอื่นๆ ในเด็กทารกที่ดูแล้วอาจจะปกติดี
คำเเนะนำของด็อกเตอร์เฟาชี่ ไม่มีความหมายอะไรมากนักแก่ผู้หญิงที่ยากจนในละตินอเมริกาและหมู่เกาะเเคริบเบียน
ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสนี้ และเเม้ว่ากำลังมีการเร่งพัฒนาวัคซีนกันอยู่ แต่คงใช้เวลาอีก 2 – 3 ปี กว่าจะมีวัคซีนออกมาใช้หนึ่งตัว ดังนั้นต้องใช้วิธีอื่นช่วยป้องกันไม่ให้ถูกยุงที่มีเชื้อไวรัส Zika กัด รวมทั้งการสวมกางเกงขายาว เสื้อเเขนยาว การใช้ยากันยุง และการกำจัดยุงพาหะของโรคกับแหล่งเพาะพันธุ์
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องเงิน วุฒิสภาสหรัฐฯ ยังไม่อนุมัติเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการวิจัยต่อไป และเมื่อขาดเงินสนับสนุน งานวิจัยนี้ก็จะเดินหน้าช้าลงหรืออาจจะต้องหยุดไป
(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)