ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยพบ ‘แมวน้ำช้าง’ งีบครั้งละ 10 นาทีใต้ทะเล


FILE - Two-month-old northern elephant seals sleep on the beach at Ano Nuevo State Park in California, U.S. April, 2020. (Jessica Kendall-Bar/Handout via REUTERS)
FILE - Two-month-old northern elephant seals sleep on the beach at Ano Nuevo State Park in California, U.S. April, 2020. (Jessica Kendall-Bar/Handout via REUTERS)

การนอนเป็นสิ่งสำคัญทั้งกับมนุษย์และสัตว์ แม้ว่า ยังไม่มีใครให้คำอธิบายจุดประสงค์ทางชีวภาพออกมาได้ก็ตาม โดยมนุษย์เราเองใช้เวลาประมาณหนึ่งในสามของชีวิตไปกับการนอน แต่มีสัตว์บางชนิดที่นอนน้อยกว่านั้นอย่างมาก เช่น แมวน้ำช้างแปซิฟิกเหนือ ซึ่งมีการพบว่า เป็นสัตว์ที่นอนน้อยจนถึงขีดสุด

และในการศึกษาครั้งใหม่ที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยออกมา นักวิจัยให้คำบรรยายนิสัยการนอนของสัตว์ชนิดนี้ที่แปลกไม่เหมือนใครที่ว่า ในช่วงที่แมวน้ำช้างออกเดินทางค้นหาอาหารในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอาจกินเวลานานถึงเจ็ดเดือน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลขนาดใหญ่นี้นอนหลับเพียงสองชั่วโมงต่อวัน โดยจะแบ่งเป็นการงีบหลับครั้งละประมาณ 10 นาที ระหว่างการดำน้ำลึกเพื่อหลบศัตรู ซึ่งมีเพียงช้างแอฟริกาเท่านั้นที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนอนน้อยเช่นนี้

อย่างไรก็ดี แมวน้ำช้างเหล่านี้ใช้เวลาการนอนต่อวันราว 10 ชั่วโมงในช่วงการผสมพันธุ์บนชายหาด อย่างเช่นที่เกิดขึ้นบริเวณชายหาดอานีโอ นูเอโว ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

นักวิจัยได้สวมหมวกยางที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้บนหัวของแมวน้ำสายพันธุ์นี้จำนวนหนึ่ง เพื่อตรวจจับข้อมูลต่าง ๆ เช่น สัญญาณการนอนที่สมองปล่อยออกมา อัตราการเต้นของหัวใจ ตำแหน่งและความลึกของการดำน้ำ โดยนักวิจัยมุ่งเน้นไปที่แมวน้ำตัวเมีย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เดินทางไปในมหาสมุทรเปิดเป็นเวลานาน ขณะที่ ตัวผู้จะหาอาหารในบริเวณน่านน้ำชายฝั่ง

การศึกษานี้ได้บันทึกพฤติกรรมการนอนของแมวน้ำช้างแปซิฟิกเหนือที่พบว่าแปลกไม่เหมือนใคร

ในระหว่างการดำน้ำนานประมาณ 30 นาที พวกมันจะเข้าสู่การนอนหลับลึกขั้น “slow-wave sleep” ในขณะที่ยังคงควบคุมวิถีการเคลื่อนที่ดิ่งลงด้านล่าง และเมื่อแมวน้ำเหล่านี้เข้าสู่การนอนระดับที่มีการเคลื่อนไหวของตาอย่างรวดเร็ว (REM) ร่างกายของพวกมันจะไม่ขยับ จากนั้นจะไหลดิ่งลงใต้มหาสมุทรด้วยการหันหัวลง และลอยหมุนเป็นเกลียววน บางครั้งอาจจะจบลงด้วยการแน่นิ่งบนพื้นใต้ทะเล

ดร.เจสสิกา เคนดัลล์-บาร์ นักวิจัยจากสถาบันสคริปส์เพื่อการศึกษาด้านสมุทรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก และเป็นผู้เขียนหลักของการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เดือนเมษายน อธิบายว่า “ณ จุดลึกที่สุดของการดำน้ำขณะนอนหลับ ซึ่งอาจจะลึกถึง 377 เมตร หรือ 1,237 ฟุต พวกมันจะตื่นและว่ายกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ"

Elephant seals and their pups occupy Drakes Beach, Friday, Feb. 1, 2019, in Point Reyes National Seashore, California. (AP Photo/Eric Risberg)
Elephant seals and their pups occupy Drakes Beach, Friday, Feb. 1, 2019, in Point Reyes National Seashore, California. (AP Photo/Eric Risberg)

แมวน้ำสายพันธุ์ดังกล่าวถือว่า มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงแค่แมวน้ำช้างแปซิฟิกใต้ สำหรับแมวน้ำช้างแปซิฟิกเหนือตัวผู้อาจจะมีความยาวราว 4 เมตรและหนัก 2,000 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะมีความยาวประมาณ 3 เมตรและหนัก 590 กิโลกรัม

อาหารของแมวนั้นช้าง คือ ปลาและปลาหมึกปริมาณมาก ขณะที่ ศัตรูในท้องทะเลที่สำคัญก็คือ ฉลามและวาฬเพชฌฆาต

เทอร์รี วิลเลียมส์ นักนิเวศสรีรวิทยาระบบนิเวศ (ecophysiologist) ผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาครูซ (UCSC) และเป็นผู้อำนวยการ Comparative Neurophysiology Lab อธิบายในรายละเอียดว่า "เป็นเรื่องน่าทึ่ง ที่สัตว์จะหลับลึกเข้าสู่ระดับ REM ซึ่งไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ขณะที่อยู่ท่ามกลางนักล่า แต่แมวน้ำเหล่านี้ก็มีทางออกโดยเลือกที่จะอยู่ในภวังค์หลับลึกในห้วงมหาสมุทรส่วนที่ลึก เนื่องจากนักล่ามักจะไม่หาเหยื่อบริเวณนั้น”

ดร.เคนดัลล์-บาร์ เล่าว่า แมวน้ำสายพันธุ์นี้จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อหายใจในทุก ๆ 10 นาที ก่อนที่จะลงไปหลับต่อใต้ทะเล โดยพวกมันจะพ่นสารลดแรงตึงผิวในปอดออกมาทางจมูก ขณะที่ โผล่ขึ้นมาหายใจเหนือน้ำ โดยสารนี้ คือตัวเคลือบที่มีความเหนียวช่วยปอดไม่ให้ยุบ ในขณะที่พวกมันดำดิ่งลึกใต้ท้องมหาสมุทร

  • ที่มา: รอยเตอร์

XS
SM
MD
LG