ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คนขี้เซาฟัง! งานวิจัยชี้ 'นอนมาก' อาจทำให้การทำงานของสมองบกพร่อง


Ma Zhenguo, a system engineer at RenRen Credit Management Co., sleeps on a camp bed at the office after finishing work early morning, in Beijing, China, April 27, 2016.
Ma Zhenguo, a system engineer at RenRen Credit Management Co., sleeps on a camp bed at the office after finishing work early morning, in Beijing, China, April 27, 2016.
Long Sleep Links to Cognitive Loss
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:57 0:00

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าการนอนหลับให้เพียงพอนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพของคนเรา สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (U.S. National Institute of Health) กล่าวว่า การอดนอนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะการทำงานของสมองบกพร่อง หรือความรู้ความเข้าใจถดถอย รวมทั้งโรคอัลไซเมอร์ แต่ในตอนนี้คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันรายงานว่า การนอนหลับมากเกินไปอาจเชื่อมโยงกับสภาวะดังกล่าวในทำนองเดียวกัน

นักวิจัยจาก Washington University School of Medicine ที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี่ ได้ทำการศึกษาเรื่องการนอนหลับ และผลการวิจัยของพวกเขาตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร Brain ฉบับเดือนกันยายน

นักวิจัยได้ศึกษาผู้ใหญ่ 100 คนที่อยู่ภายใต้การสังเกตทางการแพทย์ในเรื่องความสามารถในการรับรู้ ความสามารถในการคิด โดยเฉลี่ยเป็นเวลา 4 ปีครึ่ง อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมการศึกษาอยู่ที่ 75 ปี นักวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมการศึกษา 88 คนไม่มีภาวะถดถอยทางสมอง หรือไม่มีความเสียหายใด ๆ อีก 11 คนมีความบกพร่องเล็กน้อยมาก และมีความบกพร่องเล็กน้อยอีก 1 คน

ในระหว่างการศึกษานี้ ผู้เข้าร่วมต้องทำการทดสอบหลายครั้งเพื่อหาสัญญาณของภาวะถดถอยทางสมอง การทดสอบดังกล่าวจะรวบรวมเป็นคะแนนด้านความรู้คิด โดยยิ่งมีคะแนนสูงก็ยิ่งดี นอกจากนี้พวกเขายังต้องสวมเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เป็นเวลา 4-6 คืนเพื่อวัดการทำงานของสมองในระหว่างการนอนหลับด้วย

นักวิจัยพบว่าคะแนนความสามารถในด้านการคิดลดลงในกลุ่มที่นอนหลับน้อยกว่า 4 ชั่วโมงครึ่งหรือมากกว่า 6 ชั่วโมงครึ่งต่อคืนโดยการวัดด้วยเครื่อง EEG แต่คะแนนดังกล่าวยังคงที่เดิมสำหรับผู้ที่อยู่ตรงกึ่งกลาง

Dr. Brendan Lucey ผู้อำนวยการศูนย์ Washington University Sleep Medicine Center ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาวิจัยนี้ กล่าวว่า การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่ามีช่วงเวลาที่เป็นจุดกึ่งกลางสำหรับเวลานอนทั้งหมดเพื่อให้มีความสามารถในการคิดที่ดีที่สุด และว่าการนอนหลับที่สั้นหรือยาวนั้นมีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการรู้คิดที่แย่ลง ซึ่งอาจเป็นเพราะการนอนหลับที่ไม่เพียงพอหรือคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี

Greg Elder นักวิจัยด้านการนอนหลับที่มหาวิทยาลัย Northumbria University ในเมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ รู้สึกประหลาดใจกับผลการวิจัยที่พบว่าการนอนหลับนานกว่า 6 ชั่วโมงครึ่งมีความสัมพันธ์กับภาวะถดถอยของสติปัญญา เขากล่าวว่า การนอน 6 ชั่วโมงครึ่งนั้นน้อยไป เมื่อพิจารณาว่าผู้สูงอายุควรนอนคืนละระหว่าง 7-8 ชั่วโมง

Elder ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การวิจัยดังกล่าวไม่ได้พิจารณาข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับตัวผู้เข้าร่วมการศึกษา รวมทั้งสุขภาพโดยทั่วไปหรือสภาพเศรษฐกิจของคนเหล่านั้นด้วย

ส่วนการการศึกษาอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่า การอดนอนมีความเชื่อมโยงกับภาวะถดถอยทางสติปัญญา โดยผลการศึกษาฉบับเล็ก ๆ เมื่อปี 2018 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุว่า การอดนอนเพียงแค่คืนเดียวทำให้มีการผลิตเบต้า-อะไมลอยด์เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เบต้า-อะไมลอยด์ คือของเสียจากการเผาผลาญที่พบในระหว่างเซลล์สมอง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับความผิดปกติของสมองเช่นโรคอัลไซเมอร์มานานแล้ว

มูลนิธิ National Sleep Foundation แนะนำว่า ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีต้องการการนอนหลับระหว่าง 7-9 ชั่วโมงต่อคืน ส่วนทารก เด็กเล็ก และวัยรุ่นต้องการการนอนหลับมากกว่านั้นเพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ และผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีควรนอนคืนละ 7-8 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบจากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Washington University คือ การเพิ่มเวลาการนอนหลับสำหรับคนที่นอนน้อยจะช่วยให้ประสิทธิภาพทางสมองของพวกเขาดีขึ้นหรือไม่?

แต่ Lucey หัวหน้าการวิจัยนี้กล่าวว่า ระยะเวลาในการนอนหลับที่แต่ละคนต้องการนั้น ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล หากรู้สึกว่าพักผ่อนเพียงพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน แต่ผู้ที่นอนหลับไม่สนิทควรทราบว่าปัญหาการนอนหลับนั้นสามารถรักษาได้

Dr. David Holtzman นักวิจัยระดับแนวหน้าอีกคนหนึ่งในการศึกษานี้ กล่าวเสริมว่า การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าคุณภาพการนอนหลับอาจเป็นกุญแจสำคัญ หากเทียบกับระยะเวลาในการนอนหลับทั้งหมด

XS
SM
MD
LG