ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้นำโลกร่วมประณามเหตุลอบสังหารทรัมป์


บรรดาผู้นำจากทั่วโลกร่วมแสดงความกังวลและประณามเหตุลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการปราศรัยหาเสียงที่รัฐเพนซิลเวเนียเมื่อวันเสาร์ ซึ่งทำให้มีผู้ร่วมงานเสียชีวิตหนึ่งราย บาดเจ็บสองราย

ยุโรป

ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เออร์ชูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน กล่าวว่า เธอ "ตกตะลึงอย่างยิ่ง" ต่อการโจมตีครั้งนี้ และว่า "ระบอบประชาธิปไตยต้องไม่มีความรุนแรงทางการเมือง"

นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ โชลซ์ เรียกการลอบยิงนี้ว่า "ชั่วร้าย" และถือเป็น "ความรุนแรงที่คุกคามประชาธิปไตย" ขณะที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง เรียกว่าเป็น "โศกนาฏกรรมต่อประชาธิปไตยของเรา"

ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวว่าตนตกใจเมื่อทราบข่าวเหตุยิงกัน และหวังว่าทรัมป์จะหายจากอาการบาดเจ็บโดยเร็ว พร้อมประณามการลอบสังหารว่าไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่าที่ไหนบนโลก

ด้านโฆษกรัฐบาลรัสเซียระบุว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไม่มีแผนที่จะโทรศัพท์หาอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ในตอนนี้ ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย มาเรีย ซาคาโรว่า กล่าวโยงไปถึงการสนับสนุนของสหรัฐฯ ที่มีต่อยูเครนว่า "อาจดีกว่าหากใช้เงินนั้นสนับสนุนการทำงานของตำรวจและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรักษากฎหมายและจัดระเบียบในสหรัฐฯ "

ละตินอเมริกา

ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ฮาเวียร์ มิเล ประณามแนวคิด "ซ้ายสากล" จากเหตุลอบสังหารนี้ โดยบอกว่า "จากความตื่นตระหนกเพราะแพ้ในการสำรวจความนิยม พวกเขาหันหาการก่อการร้ายเพื่อเดินหน้าทำตามวาระแห่งเผด็จการและการก้าวถอยหลัง"

ประธานาธิบดีบราซิล ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา กล่าวว่า เหตุลอบยิงครั้งนี้ "ต้องถูกประณามจากผู้ปกป้องประชาธิปไตยและการเจรจาทางการเมืองทุกหนแห่ง"

ด้านผู้นำรัฐบาลชิลี และโคลัมเบีย ต่างประณามความรุนแรงนี้เช่นกัน พร้อมยืนยันว่าจะยืนเคียงข้างสหรัฐฯ ในช่วงเวลายากลำบากนี้

ส่วนประธานาธิบดีโบลิเวีย กล่าวว่า "แม้มีความแตกต่างทางแนวคิดและระบอบการเมือง แต่ความรุนแรงจะต้องถูกปฏิเสธจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะมาจากไหน"

เอเชียแปซิฟิก

ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อทรัมป์ ขณะที่ติดตามเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี ที่แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการโจมตี "มิตร" ของตน

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ กิชิดะ กล่าวว่า "เราต้องร่วมยืนหยัดต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบที่ท้าทายความเป็นประชาธิปไตย"

ประธานาธิบดีไต้หวัน ไล่ ชิง-เต๋อ แสดงความเสียใจต่อเหยื่อของเหตุการณ์นี้ พร้อมยืนยันว่า "ความรุนแรงทางการเมืองทุกรูปแบบเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในระบอบประชาธิปไตย"

ส่วนประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส กล่าวว่า "โล่งใจอย่างยิ่งที่ได้รับข่าวว่าอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปลอดภัยดี หลังเหตุลอบสังหารนี้"

ตะวันออกกลาง

นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวว่า "ซาราและผมรู้สึกตกใจกับการโจมตีที่เหมือนจะพุ่งเป้าไปที่ประธานาธิบดีทรัมป์" "เราภาวนาให้เขาปลอดภัยและมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว"

ประธานาธิบดีอียิปต์ อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี เรียกเหตุลอบยิงครั้งนี้ว่า "ไม่น่าไว้วางใจอย่างยิ่ง" พร้อมแสดงความหวังว่า "การรณรงค์เลือกตั้งของสหรัฐฯ จะเดินหน้าต่อไปภายใต้บรรยากาศที่สงบและแข็งแรง ปราศจากการคุกคามของการก่อการร้าย ความรุนแรง หรือความเกลียดชังใด ๆ "

  • ที่มา: เอพี และเอเอฟพี
XS
SM
MD
LG