สำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ เปิดเผยชื่อผู้ต้องสงสัยลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการปราศรัยหาเสียงที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งของอเมริกา
เอฟบีไอระบุว่า โธมัส แมทธิว ครูกส์ ชายวัย 20 ปีจากเมืองเบทเธลพาร์ค รัฐเพนซิลเวเนีย คือ "ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง" ในการลอบยิงครั้งนี้ โดยครูกส์ลงทะเบียนสังกัดพรรครีพับลิกัน แต่เคยบริจาคเงิน 15 ดอลลาร์ให้กับกลุ่มแนวคิดเสรีนิยมกลุ่มหนึ่งเมื่อไม่นานนี้ อ้างอิงข้อมูลจากสื่อหลายแห่ง
สื่อวอลสตรีทเจอนัล รายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบวัสดุผลิตระเบิดในรถยนต์และในบ้านของครูกส์ ส่วนปืนไรเฟิลที่เขาใช้ก่อเหตุนั้นซื้อในชื่อของบิดาของเขา
เมื่อวันเสาร์ โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นเวทีเพื่อปราศรัยหาเสียง จากนั้นมีเสียงดังคล้ายเสียงปืนหลายนัด ก่อนที่ทรัมป์จะเอามือจับที่คอด้านขวาของเขาและหลบตัวลงมาขณะที่เจ้าหน้าที่อารักขาต่างพุ่งไปล้อมรอบตัวเขาไว้
ภาพและวิดีโอที่โพสต์ทางออนไลน์แสดงให้เห็นมือปืนกำลังถือปืนไรเฟิลและไต่ไปบนหลังคาอาคารที่อยู่ไม่ไกลจากจุดที่ทรัมป์กล่าวปราศรัยก่อนที่จะมีเสียงปืนดังขึ้น ก่อนที่มือปืนจะถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต
รายงานระบุว่ามีผู้ร่วมฟังคำปราศรัยเสียชีวิตหนึ่งคน บาดเจ็บอีกสองคน ส่วนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า "ไม่เป็นอะไร" หลังจากที่มีกระสุนถากหูขวาด้านบนของเขาจนเลือดทะลักออกมา โดยทรัมป์เดินทางออกจากโรงพยาบาลเมื่อคืนวันเสาร์
เหตุการณ์ลอบยิงครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ที่ซึ่งจะมีการเสนอชื่อให้ทรัมป์เป็นตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการเพื่อลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในเดือนพฤศจิกายนนี้
คณะกรรมการจัดการประชุมใหญ่ของรีพับลิกัน ยืนยันว่า การจัดงานจะดำเนินต่อไปตามตารางที่กำหนดไว้ และทรัมป์จะไปร่วมงานประชุมที่จะมีขึ้นที่เมืองมิลวอกีด้วย
คำถามต่อการรักษาความปลอดภัย
เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดคำถามต่อระดับการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่หน่วยงาน Secret Service ซึ่งอารักขาประธานาธิบดีและอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
บรรดาผู้นำพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ต่างกล่าวว่าจะดำเนินการ "สืบสวนเต็มรูปแบบ" พร้อมยืนยันว่า "ชาวอเมริกันต้องการคำตอบเกี่ยวกับเหตุลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ครั้งนี้" และเตรียมตั้งคำถามต่อ คิมเบอร์ลีย์ ชีเทิล ผู้อำนวยการหน่วยงาน Secret Service
อเล็ก เกรย์ อดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติในสมัยทรัมป์ กล่าวว่า เหตุการณ์แสดงให้เห็นว่าการอารักขาทรัมป์นั้น "หละหลวมเมื่อเทียบกับภัยคุกคามที่เขาเผชิญอยู่" พร้อมขอให้มีการยกระดับการอารักขาทรัมป์ให้อยู่ในระดับสูงสุดเทียบเท่ากับประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ด้าน เควิน โรเจก เจ้าหน้าที่เอฟบีไอประจำรัฐเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า "น่าประหลาดใจ" ที่มือปืนสามารถยิงกระสุนได้ถึง 4-5 นัดก่อนที่จะถูกยิงเสียชีวิต
ท่าทีไบเดน
หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวกับผู้สื่อข่าวโดยเรียกเหตุลอบยิงนี้ว่า "น่ารังเกียจ" และว่า "ความรุนแรงลักษณะนี้ต้องไม่เกิดขึ้นในอเมริกา" "นั่นคือหนึ่งในเหตุผลที่ที่เราต้องสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในประเทศนี้ เราต้องไม่ยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอีก"
นักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่า การลอบสังหารทรัมป์จะทำให้การแข่งชิงชัยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้ายิ่งรุนแรงขึ้น ทำให้การเมืองร้อนแรงและอาจสร้างความแตกแยกในสังคมอเมริกันมากขึ้นด้วย
เจค็อบ แวร์ นักวิชาการแห่ง Council on Foreign Relations ชี้ว่า "นี่คือวันที่มืดมนอย่างยิ่งของอเมริกา และวันที่มืดดับของประชาธิปไตย อาจถือได้ว่าเป็นความรุนแรงทางการเมืองที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11"
"เรากำลังพูดถึงการลอบสังหารอดีตผู้นำโลกเสรีที่กำลังหาเสียงเป็นประธานาธิบดี ถือเป็นความน่าสยดสยองและน่าหวาดกลัวเมื่อคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป" นักวิชาการผู้นี้กล่าว
เคซีย์ เบอร์แกต อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน กล่าวว่า "การลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ มิได้ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น แต่จะส่งผลกว้างต่อการเมืองอเมริกันโดยรวม" และว่า เหตุการณ์นี้จะยิ่งสร้างความแตกแยกและก่อให้เกิดคำพูดที่แหลมคมต่อสภาวะทางการเมืองและความรุนแรงในการเมืองสมัยใหม่ของอเมริกา
- ที่มา: ห้องข่าววีโอเอ