สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAID มอบรางวัล World Food Prize ประจำปีนี้ ให้กับคณะนักวิจัยผู้พัฒนามันเทศพันธุ์ใหม่ซึ่งมีวิตามินเอในระดับสูง สำหรับลดปัญหาการขาดแคลนสารอาหารของเด็กๆ ในอาฟริกา
งานมอบรางวัลอาหารโลกหรือ World Food Prize ของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAID จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักในผลงานของบรรดาผู้ที่พยายามพัฒนาคุณภาพและปริมาณ ตลอดจนการเข้าถึงอาหารทั่วโลก
สำหรับปีนี้ เจ้าของผลงานที่ได้รับรางวัลอาหารโลก คือคณะนักวิจัยชาวอาฟริกัน 3 คนจากศูนย์มันฝรั่งระหว่างประเทศ และนักวิจัยอีก 1 คน จากสถาบันวิจัยนโยบายด้านอาหาร HarvestPlus ซึ่งทั้ง 4 คนจะได้รับเงินรางวัลคนละ 250,000 ดอลลาร์
ทั้ง 4 คนร่วมพัฒนามันเทศพันธุ์ใหม่ซึ่งมีวิตามินเอในระดับสูง และสามารถทนทานต่อความแห้งแล้งและโรคต่างๆในอาฟริกา ได้ดีกว่ามันเทศทั่วไป
คณะนักวิจัยชุดนี้ร่วมจัดตั้งโครงการพิเศษเพื่อแจกจ่ายมันเทศพันธุ์ใหม่นี้ให้กับเด็กๆ ทั่วแถบทางใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้งและอดอยาก เป้าหมายเพื่อลดปัญหาขาดแคลนวิตามินเอ ที่อาจเป็นสาเหตุของความบกพร่องทางสายตา และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของเด็กและสตรีมีครรภ์จำนวนมาก
คุณ Maria Andrade หนึ่งในคณะนักวิจัยผู้คิดค้นมันเทศพันธุ์ใหม่ กล่าวกับ VOA ว่าเธอและเพื่อนร่วมงานอีก 2 คนเริ่มงานวิจัยชิ้นนี้เมื่อปี ค.ศ. 1996 หลังจากพบว่ามีเด็กชาวอาฟริกาจำนวนมากที่ล้มป่วยด้วยโรคขาดสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามินเอ เนื่องจากเด็กเหล่านั้นส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวยากจน และไม่มีโอกาสเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์
นักวิจัยชุดนี้ชี้ว่า มันเทศพันธุ์ใหม่คืออาหารสำคัญที่จะช่วยให้เด็กเหล่านั้นได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น ปัจจุบันคาดว่ามีครอบครัวชาวอาฟริกาที่ใช้มันเทศพันธุ์นี้ในการปรุงอาหารราว 2 ล้านครัวเรือน ส่วนใหญ่อยู่ใน ระวันดา บุรุนดี กาน่า และเบอร์กิน่า ฟาโซ
คณะนักวิจัยตั้งความหวังว่าจำนวนครัวเรือนที่ใช้มันเทศพันธุ์นี้จะเพิ่มเป็น 10 ล้านครัวเรือน ภายในช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้หลายประเทศในอาฟริกาเริ่มมีโครงการขยายการปลูกมันเทศพันธุ์วิตามินเอสูงนี้ มากขึ้นแล้ว
ด้านคุณ Howarth Bouis ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยนโยบายด้านอาหาร HarvestPlus ระบุว่าเวลานี้กำลังมีโครงการพัฒนาพืชผลพันธุ์พิเศษอื่นๆ เช่น ข้าวเจ้าและข้าวสาลีที่มีธาตุสังกะสีระดับสูง ข้าวโพดที่อุดมด้วยวิตามินเอ และถั่วที่ให้ธาตุเหล็กมากกว่าเดิม โดยเริ่มมีการแจกจ่ายไปบ้างแล้วในแถบเอเชียใต้และอาฟริกา
คุณ Bouis ตั้งความหวังไว้ว่าจะสามารถแจกจ่ายพืชผลที่อุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆ เหล่านี้ให้แก่ประชากรทั่วโลกได้ราว 1,000 ล้านคน ภายในปี ค.ศ. 2030
(ผู้สื่อข่าว Pam Dockins รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)