ในแต่ละวัน ผู้คนหลายพันล้านคนต้องพึ่งพาพืชและสัตว์จากป่าเพื่อให้ได้อาหาร ยา รวมถึงพลังงาน แต่รายงานฉบับใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า การใช้ทรัพยากรที่มากจนเกินไป การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการตัดไม้ทำลายป่า กำลังผลักดันให้สายพันธุ์ต่าง ๆ จำนวนมากกว่าล้านชนิด เข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์
หน่วยงานด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการระบบนิเวศ หรือ IPBES รายงานในช่วงต้นเดือนกรกฏาคมว่า หากมนุษย์ไม่ปรับพฤติกรรมการใช้ธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน โลกของเราจะสูญเสียพันธุ์ป่าไม้ราว 12% สายพันธุ์ของสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนนับพัน และสัตว์จำพวกฉลามและปลากระเบนอีกเกือบ 450 สายพันธุ์ รวมถึงอาจประสบความเสียหายขั้นหายนะที่ไม่อาจแก้ไขได้อีกหลายอย่าง
สำหรับหน่วยงาน IPBES นั้น เป็นหน่วยงานระหว่างรัฐ ซึ่งมีความอิสระและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ แต่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของ UN
รายงานดังกล่าวชี้ว่า มนุษย์มีการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ที่มาจากป่าราว 50,000 สายพันธุ์เป็นประจำ และ 1 ใน 5 ของประชากรจำนวน 7.9 พันล้านคนบนโลกใบนี้ต่างพึ่งพาสายพันธุ์ข้างต้นเพื่อใช้เป็นอาหารและสร้างรายได้ ส่วนในทวีปแอฟริกานั้น สัดส่วนของคนที่พึ่งพาป่าไม้นั้นสูงถึง 1 ใน 3 เพื่อนำฟืนมาใช้ในการก่อไฟสำหรับการปรุงอาหาร
มาร์ลา อาร์ เอเมอร์รี นักวิจัยจากกรมป่าไม้สหรัฐฯ และเป็นประธานร่วมโครงการรายงานนี้จากสหรัฐฯ กล่าวกับสำนักข่าว เอพี ว่า “การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างยั่งยืนเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเราต้องการที่จะส่งต่อไปสู่คนรุ่นถัดไป และเมื่อสายพันธุ์ในป่าเกิดความไม่ยั่งยืน ย่อมส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและมนุษย์”
รายงานนี้ยังให้คำแนะนำและนำเสนอตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าและพันธุ์พืชอย่างยั่งยืนให้กับผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายทั้งหลาย พร้อมเน้นย้ำจุดสำคัญในการมุ่งช่วยชนพื้นเมืองและคนในท้องถิ่นสามารถรักษาสิทธิ์ในการใช้งานสัตว์และพันธ์ไม้ป่าอย่างยั่งยืนได้ต่อไป
ทั้งนี้ การศึกษาพบว่า ชนพื้นเมืองคือ ผู้ที่ครอบครองพื้นที่รวมกันประมาณ 38 ล้านตารางกิโลเมตร ใน 87 ประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของพื้นที่ซึ่งได้รับการอนุรักษ์อยู่
เอเมอร์รี กล่าวว่า “ที่ดินของชนพื้นเมืองมีแนวโน้มที่เกิดความยั่งยืนมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นการช่วยสืบสานธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ ของคนในท้องถิ่นด้วย” โดยเธอมองว่า สิ่งที่สำคัญคือ การจัดตั้งระบบในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา เพื่ออนุรักษ์ภาษาพื้นเมือง เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้คนเก่าแก่สามารถถ่ายทอดความรู้ดั้งเดิมรวมถึงแนวทางปฏิบัติไปสู่คนรุ่นถัดไปได้
ฌอน มาร์ค โฟรมันตัน ประธานร่วมโครงการจัดทำรายงานนี้จากฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว เอพี โดยยกตัวอย่าง การตกปลาช่อนยักษ์อะแมซอน (arapaima) หนึ่งในปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากลุ่มน้ำอะแมซอน ประเทศบราซิล และอธิบายว่า “บางชุมชนในบราซิลทำแผนจัดการในระดับชุมชนขึ้นมา ก่อนที่จะเชิญให้นักวิทยาศาสตร์มาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับชีววิทยาของปลาและช่วยวางระบบสังเกตการณ์ที่มีประสิทธิภาพ โดยความสำเร็จดังกล่าวกลายเป็นแนวปฏิบัติที่ขยายไปสู่ชุมชนและประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น เปรู เป็นต้น”
เกรกอริโอ มิราบอล หัวหน้าขององค์กรส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ของชนพื้นเมือง COICA (Coordinator of the Indigenous Organizations of the Amazon Basin) ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในรายงานดังกล่าว บอกกับ ผู้สื่อข่าว เอพี ว่า หลายครั้งที่การศึกษาขององค์การสหประชาชาติ เน้นย้ำถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงภัยคุกคามจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง แต่กลับไม่ได้กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหา
ผู้นำของชนพื้นเมืองยังกล่าวถึงปัญหาที่กำลังขยายตัวขึ้นในระดับภูมิภาค อย่างเช่น การปนเปื้อนของน้ำที่เกิดมาจากการใช้สารปรอทในการทำเหมืองผิดกฎหมาย รวมไปถึงการรั่วไหลของน้ำมัน และเมื่อคนที่ออกมาต่อต้านก็ถูกคุกคามด้วยความรุนแรง อย่างเช่น เมื่อไม่นานนี้ที่มีการสังหารชนพื้นเมืองที่ลุกขึ้นต่อสู้ ในพื้นที่การทำเหมืองในประเทศเวเนซุเอลา
มิราบอล บอกว่า “มีการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่สมเหตุสมผลในลุ่มน้ำอะแมซอน แต่กลับไม่มีการลงทุนด้านสังคมเพื่อปรับปรุงสำหรับชนพื้นเมือง ทั้งในเรื่องสุขภาพ การศึกษา วัฒนธรรม และสถานการณ์ด้านอาหาร”
รายงานดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากตัวแทนของประเทศสมาชิกจำนวน 139 ประเทศ ที่รวมตัวกันที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี โดยผู้ที่มาร่วมการประชุมดังกล่าวประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ทั้งนักวิทยาศาสตร์ไปจนถึงผู้มีความรู้เรื่องชนพื้นเมือง
- ที่มา: เอพี