ลิ้งค์เชื่อมต่อ

WHO ชี้ ไวรัส ‘โอมิครอน’ ไม่รุนแรงอย่างที่คิด แม้ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ในแอฟริกาพุ่งต่อเนื่อง


A woman receives a dose of a COVID-19 vaccine at a vaccine center, in Soweto, South Africa, Nov. 29, 2021.
A woman receives a dose of a COVID-19 vaccine at a vaccine center, in Soweto, South Africa, Nov. 29, 2021.

เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำสำนักงานภูมิภาคแอฟริกา เปิดเผยในวันพฤหัสบดีว่า ขณะที่ โคโรนาไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมาก มีสัญญาณบ่งชี้ในเบื้องต้นว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาพอควร

ในระหว่างการแถลงข่าวแบบออนไลน์ในวันพฤหัสบดี เจ้าหน้าที่ WHO จากสำนักงานแอฟริการะบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่พุ่งขึ้นถึง 93% หรือจากระดับ 55,000 คนในสัปดาห์ก่อน มาเป็น 107,000 คนในสัปดาห์นี้ โดยพื้นที่ประเทศในแถบแอฟริกาตอนใต้ 5 ประเทศมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อใหม่ถึง 86% ขณะที่ภาพรวมนั้นแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในภูมิภาคนี้พุ่งขึ้นสูงสุดกว่าใครถึง 140% โดยมีประเทศแอฟริกาใต้เป็นผู้ช่วยส่งให้ทำสถิตินี้ได้ด้วยอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยถึง 225%

อย่างไรก็ตาม ดร.ริชาร์ด มิฮิโก หัวหน้าหน่วยสร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาวัคซีนของ WHO กล่าวว่า การติดตามสถานการณ์ในโรงพยาบาลทั่วประเทศแอฟริกาใต้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า มีการรับผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน (ไอซียู) เพียง 6.3% เท่านั้น ซึ่งนับว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับเมื่อครั้งมีการระบาดใหม่ของไวรัสสายพันธุ์เดลตา เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ดร.มิฮิโก กล่าวว่า แม้สถิตินี้เป็นภาพสะท้อนของตัวอย่างประชากรขนาดเล็กมากจากข้อมูลเบื้องต้น สิ่งที่บ่งชี้ได้ในเวลานี้คือ ไวรัสสายพันธุ์ โอมิครอนนั้นน่าจะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรงมากนัก

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่จากองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency – EMA) ออกมาให้ความเห็นคล้ายคลึงกันนี้ในระหว่างการแถลงข่าวในวันพฤหัสบดีเช่นกัน โดย มาร์โก คาวาเลรี หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์วัคซีน กล่าวว่า การศึกษากรณีผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนในช่วงต้นนั้น ส่วนใหญ่มีอาการป่วยแบบอ่อนๆ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คาวาเลรี ย้ำว่า ยังต้องมีการรวบรวมหลักฐานให้มากกว่านี้ ก่อนจะมีการสรุประดับความรุนแรงของอาการป่วยที่เกิดจากโอมิครอน ว่าแตกต่างจากกรณีโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ หรือไม่

(ข้อมูลบางส่วนมาจากสำนักข่าว เอพี รอยเตอร์ และ เอเอฟพี)

XS
SM
MD
LG