ยังเหลือเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะทราบอย่างเป็นทางการว่า ใครคือตัวเเทนพรรคเดโมเเครตและรีพับลิกัน ที่จะลงเเข่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คือ ตัวเก็งที่แทบทุกคนต่างพูดถึงว่าจะได้มา 'รีเเมตช์' กัน
อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ต่างมีประเด็นท้าทายเกี่ยวกับอายุและคดีความทางกฎหมาย ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าอยู่ ๆ ไบเดนหรือทรัมป์ ไม่สามารถลงเลือกตั้งเป็นผู้นำสหรัฐฯ ได้
ในเรื่องอายุ โจ ไบเดนอยู่ในวัย 81 ปี ขณะที่ทรัมป์อายุ 77 ปี ในส่วนของคดีความ ทรัมป์ เผชิญกับข้อหาที่มีโทษหนัก 91 ข้อหา ซึ่งอย่างน้อยหนึ่งในจำนวนดังกล่าวน่าจะเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีปีนี้
ปัจจัยสำคัญด้านเวลาสำหรับเหตุการณ์ที่อาจทำให้ไบเดนจากพรรคเดโมเเครต หรือทรัมป์จากฝั่งรีพับลิกัน ไม่สามารถเป็นตัวเเทนพรรคของตนได้ คือวันจัดประชุมใหญ่ของพรรคที่รับรองว่าใครคือตัวเเทนไปแข่งเป็นประธานาธิบดี
การประชุมใหญ่ของรีพับลิกันจะเกิดขึ้นวันที่ 15-18 กรกฎาคม ที่เมืองมิลวอล์กี รัฐวิสคอนซิน ขณะที่ ของเดโมเเครตจะเกิดขึ้นช่วง 19-22 สิงหาคม ที่ชิคาโก รัฐอิลลินอยส์
หากว่ามีการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ลงเเข่งในรัฐต่าง ๆ ก่อนการประชุมใหญ่ รัฐบางแห่งอนุญาตให้ยืดเวลาการเเข่งขันออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้นักการเมืองลงเเข่งขันเพิ่ม
แต่หากว่าไม่มีเวลาพอที่จะเพิ่มชื่อผู้ลงเเข่ง บางรัฐอาจใช้มาตรการฉุกเฉิน
ไมเคิล ธอร์นิง ผู้อำนวยการฝ่ายประชาธิปไตยเชิงโครงสร้างแห่งสถาบัน Bipartisan Policy Institute กล่าวว่า บุคคลที่เพิ่มเข้ามาในการเลือกตั้งขั้นต้น ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่อยู่ในการเเข่งขัน ณ เวลานั้นเสมอไป เขากล่าวว่าอาจเป็นคนที่ที่ประชุมพรรคเห็นว่าเหมาะสมและมีโอกาสชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี
แน่นอนว่าแต่ละพรรคมีกฎระเบียบที่ต่างกัน
จอห์น ซีฟอร์ติเยร์ นักวิจัยเรื่องการเมืองและการเลือกตั้งแห่งสถาบัน American Enterprise Institute กล่าวว่า ในทางเทคนิค คนกลุ่มเล็ก ๆ ภายในพรรคสามารถมีบทบาทกำหนดตัวบุคคลมาเป็นผู้นำพรรคในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ อย่างไรก็ตาม พรรคน่าจะต้องออกเเถลงการณ์อธิบายการตัดสินใจต่อสาธารณชน
หากว่าเกิดอะไรขึ้นกับโจ ไบเดน อันเป็นเหตุให้เขาลงเลือกตั้งไม่ได้ รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส อาจได้รับการเชิญให้ลงเเข่งตำแหน่งประธานาธิบดีเเทน เเม้ว่าจะดูสมเหตุสมผลแต่ไม่ใช้สิ่งที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมาย ตามความเห็นของธอร์นิง
อีกฉากทัศน์หนึ่งที่ถูกพูดถึง คือ หากทราบเเล้วว่าใครคือผู้ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีและยังไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการ แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้บุคคลผู้นั้นดำรงตำแหน่งไม่ได้ จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น
ในกรณีดังกล่าว ผู้ลงแข่งจากพรรคเดียวกันในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ยังไม่ใช่ผู้ที่ขึ้นมาทำหน้าที่เเทนโดยอัตโนมัติ
หน้าที่เลือกตัวเเทนประธานาธิบดีคนใหม่จะเป็นของคณะผู้เลือกตั้ง หรือที่เรียกในทางเทคนิคว่า 'electors' ซึ่งเป็นตัวแทนการเมืองในเเต่ละรัฐของสหรัฐฯ
หากว่า 'electors' ไม่สามารถมีความเห็นไปในทางเดียวกัน รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ระบุไว้ในบทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 12 ไว้ว่า สภาผู้เเทนราษฎรจะทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี และวุฒิสภาเลือกรองประธานาธิบดี
ในระหว่างรอคำตอบจากสภา ผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของพรรคที่ชนะเลือกตั้งจะทำหน้าที่รักษาการณ์แทนผู้นำประเทศในวันปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม
- ที่มา: วีโอเอ