ประธานาธิบดีเรจิบ เทยิบ เออร์โดวาน ของตุรกี ชนะการเลือกตั้งรอบสุดท้ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้เขาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อได้อีกห้าปี ท่ามกลางสารพัดความท้าทายในประเทศ ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจ แรงกดดันต่อการส่งผู้ลี้ภัยชาวซีเรียกลับประเทศ ไปจนถึงการฟื้นฟูประเทศหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
เอพีรวบรวมความท้าทายด้านนโยบายที่ผู้นำตุรกีจะต้องเผชิญในอีกห้าปีต่อจากนี้
นโยบายเศรษฐกิจแบบสวนกระแสของเออร์โดวานจะใช้ได้จนถึงเมื่อใด?
เมื่อเดือนตุลาคม ภาวะเงินเฟ้อในตุรกีพุ่งไปที่ 85% ก่อนจะลดลงเหลือ 44% เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่ายังคงสะท้อนถึงวิกฤตค่าครองชีพในประเทศ ทำให้ประชาชนจ่ายค่าเช่าและซื้อของอุปโภคบริโภคลำบากขึ้น
มีผู้วิจารณ์ว่า วิกฤตครั้งนี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากนโยบายกดดอกเบี้ยของปธน.เออร์โดวาน เพื่อมุ่งเป้าให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้ว นักเศรษฐศาสตร์จะแนะนำให้มีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือปัญหาเงินเฟ้อมากกว่า
แม้เศรษฐกิจจะประสบปัญหาเงินเฟ้อ แต่ปธน.เออร์โดวานก็ยังคงชนะเลือกตั้งต่อไปสมัยอีกสมัย ส่วนหนึ่งเพราะมีการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อลดผลกระทบจากเงินเฟ้อ เช่น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การเพิ่มบำนาญ ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าไม่ยั่งยืน
นับจากนี้ไป รัฐบาลของปธน.เออร์โดวานต้องตัดสินใจว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำต่อไป ค่อย ๆ เพิ่มอัตราดอกเบี้ย หรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแต่น้อยควบคู่กับการใช้มาตรการอื่น ๆ โดยเซลวา เดมิรัลพ์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอคในนครอิสตันบูล เห็นว่า เศรษฐกิจตุรกีจะชะลอตัวลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะมีการใช้มาตรการใดก็ตาม แต่รัฐบาลมีทางเลือกว่าจะควบคุมการชะลอตัวได้หรือจะทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักกะทันหัน
ค่าใช้จ่ายมหาศาลเพื่อฟื้นฟูประเทศหลังแผ่นดินไหว
ปธน.เออร์โดวานได้รับชัยชนะถล่มทลายในจังหวัดที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่คร่าชีวิตผู้คนไปราว 50,000 คน แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่า รัฐบาลตุรกีรับมือหลังเกิดเหตุช้าและไม่มีประสิทธิภาพ
ผู้นำตุรกีคว้าชัยไปได้จาก 9 ใน 11 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยเฉพาะในจังหวัดฮาทัยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยปธน.เออร์โดวานกล่าวแถลงหลังชนะเลือกตั้งว่า การฟื้นฟูประเทศหลังแผ่นดินไหวเป็นวาระสำคัญที่สุดของรัฐบาล
ทั้งนี้ ธนาคารโลกประเมินว่า เหตุแผ่นดินไหวทำให้เกิด “ความเสียหายโดยตรง” มูลค่า 34,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 4% ของจีดีพีตุรกีเมื่อปี 2021 และการฟื้นฟูประเทศอาจมีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้นถึงสองเท่า
ภาคก่อสร้างในตุรกีเติบโตขึ้นมากในช่วงสองทศวรรษที่ปธน.เออร์โดวานดำรงตำแหน่ง แม้จะมีผู้วิจารณ์ว่า การขาดกฎระเบียบควบคุมการก่อสร้างอาคารเป็นหนึ่งในสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวจำนวนมาก แต่ผู้สนับสนุนผู้นำตุรกีจำนวนมากก็เชื่อว่า ปธน.เออร์โดวานจะนำการการฟื้นฟูมาสู่ประเทศได้ ท่ามกลางคำเตือนจากนักภูมิศาสตร์และวิศวกรว่า การเร่งก่อสร้างอย่างรวดเร็วอาจมาพร้อมกับความเสี่ยง
ผู้นำตุรกีถูกกดดัน ส่งตัวผู้ลี้ภัยซีเรียกลับประเทศ
ปธน.เออร์โดวานทราบดีว่า มีกระแสต่อต้านผู้อพยพชาวซีเรีย 3.4 ล้านคนที่หนีความรุนแรงในประเทศมายังตุรกี โดยเฉพาะในช่วงที่ตุรกีเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ
ผู้นำตุรกีกล่าวว่า ผู้ลี้ภัยราว 600,000 คนได้เดินทางกลับซีเรียโดยสมัครใจแล้ว โดยรัฐบาลตุรกีได้สร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ทางตอนเหนือของซีเรียที่ตุรกีควบคุมอยู่ และจะมีผู้ลี้ภัยอีก 1 ล้านคนเดินทางกลับซีเรียตามโครงการส่งคืนผู้ลี้ภัยที่ตุรกีร่วมมือกับกาตาร์
อย่างไรก็ตาม เอมมา ซินแคลร์-เว็บบ์ จากองค์กรฮิวแมน ไรท์ วอทช์ กล่าวว่า ซีเรียยังคงเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยจำนวนมาก และการแบ่งขั้วทางสังคมในตุรกียิ่งทำให้ผู้ลี้ภัยเผชิญสถานการณ์ที่อันตรายขึ้น
เออร์โดวานส่งสัญญาณเดินหน้าปราบปรามผู้เห็นต่าง
การดำรงตำแหน่งของปธน.เออร์โดวานเต็มไปด้วยการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกและการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อชนกลุ่มน้อยในสังคม สื่อกระแสหลักมีจุดยืนสนับสนุนรัฐบาล มีการคัดกรองอินเตอร์เน็ต มีกฎหมายสื่อสังคมออนไลน์ฉบับใหม่ที่อาจจำกัดการแสดงออกทางออนไลน์ ขณะที่ตัวผู้นำตุรกียังพุ่งเป้าโจมตีชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่ม LGBTQ และกลุ่มชาติพันธุ์เคิร์ดบ่อยครั้ง
หลังมีความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปี 2016 ที่รัฐบาลตุรกีกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของ เฟทุลลาห์ กูเลน อิหม่ามผู้ทรงอิทธิพลที่ลี้ภัยการเมืองในสหรัฐฯ รัฐบาลตุรกีได้ใช้กฎหมายก่อการร้ายเพื่อจับกุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกูเลน นักการเมืองที่สนับสนุนชาวเคิร์ด และสมาชิกของกลุ่มประชาสังคม
ซินแคลร์-เว็บบ์ จากองค์กรฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ระบุว่า การแถลงหลังได้รับชัยชนะของปธน.ออร์โดวาน ที่มีทั้งการโจมตีนักการเมืองที่สนับสนุนชาวเคอร์ดิชที่ถูกจำคุกอยู่ และการปลุกกระแสต่อต้านกลุ่ม LGBTQ เป็นการสื่อให้เห็นถึงทิศทางของรัฐบาลตุรกีต่อจากนี้
ทั้งนี้ แม้ผู้นำตุรกีจะเคยเรียกการปฏิบัติโดยมิชอบต่อชาวเกย์ว่าเป็นสิ่งที่ “ไร้มนุษยธรรม” แต่เขาก็กล่าวถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าเป็น “พวกเบี่ยงเบน” รวมทั้งมีการใช้คำพูดต่อต้านชาวเกย์ระหว่างการหาเสียง โดยนับตั้งแต่ปี 2015 รัฐบาลตุรกีได้สั่งห้ามจัดขบวนพาเหรดเพื่อสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้คำพูดที่กีดกันทางเพศมากขึ้นเพื่อพยายามสร้างความนิยมในกลุ่มฐานเสียงสายอนุรักษนิยม
เมื่อปี 2021 รัฐบาลของปธน.เออร์โดวานได้นำตุรกีออกจากสนธิสัญญายุโรปเพื่อปกป้องผู้หญิงจากความรุนแรงในครัวเรือน หลังกลุ่มอนุรักษนิยมอ้างว่า สนธิสัญญาดังกล่าวสนับสนุนการรักร่วมเพศ
ขณะเดียวกัน กลุ่ม Kaos GL ซึ่งเป็นสมาคม LGBTQ ที่เก่าแก่ที่สุดในตุรกี กล่าวในแถลงการณ์ว่า ทางกลุ่มจะยังคงเดินหน้าเรียกร้องต่อไปแม้ว่าปธน.เออร์โดวานจะชนะเลือกตั้งอีกสมัยก็ตาม
- ที่มา: เอพี